โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 28 ปกป้องพันธุกรรมท้องถิ่น ด้วยข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล

           เมื่อเอ่ยชื่อถึงพี่โย หรือบำรุง คะโยธา จะเป็นที่รู้จักของกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงนักการเมือง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ด้วยพี่โยเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง และช่วงเวลาที่พี่โยกลับมาทำเกษตรยั่งยืนที่บ้าน พี่โยเคยได้รับตำแหน่งเป็นนายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ บ้านเกิดของตัวเองและได้สร้างผลงานสำคัญๆ ไว้หลายประการ โดยเฉพาะการพาพี่น้องมุ่งสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การออกบัญญัติท้องถิ่นห้ามติดป้ายหรือโฆษณาสารเคมีในท้องที่สายนาวัง รวมไปถึงข้อบัญญัติการขึ้นทะเบียนพันธุกรรมท้องถิ่นชุมชนสายนาวัง

           ถึงแม้วันนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี พี่โยผ่านพ้นตำแหน่งนายก อบต.สายนาวัง แต่ผลงานที่สร้างไว้ยังมีการปฏิบัติต่อเนื่องด้วยถูกบัญญัติให้เป็นข้อตกลงของชุมชนนั่นเอง

การขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นเรื่องง่ายๆ

           “การขึ้นทะเบียนพันธุกรรมท้องถิ่นในชุมชนสายนาวังนั้นทำไม่ยาก ช่วงที่รับตำแหน่งนายก อบต. เราก็ให้คนในชุมชนไปเก็บพืชผักที่มีอยู่ในชุมชนมาให้ได้มากชนิดที่สุด เก็บทั้งเมล็ด กิ่ง ใบ ผล ต้น ราก แล้วมาช่วยกันจดบันทึกชื่อท้องถิ่น บันทึกลักษณะการเจริญเติบโต การใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ช่วงนั้นราวปี 2554-2555 รวบรวมกันได้กว่า 200 ชนิด บันทึกแล้วพิมพ์ออกมาเป็นเอกสาร จากนั้นนำเสนอต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้ออกเป็นบัญญัติของ อบต.” พี่โยได้กล่าวให้เห็นขั้นตอนง่ายๆ ของการขึ้นทะเบียนพันธุ์ในระดับท้องถิ่น ในช่วงที่รับตำแหน่งเป็น นายก อบต. ถึงวันนี้ยังคงได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงสำคัญในการปกป้อง และยืนยันว่า ชุมชนสายนาวังมีพันธุกรรมพืชชนิดใดบ้าง หากมีบริษัทธุรกิจนำเมล็ดพันธุ์ของชุมชนไป ไม่ว่าจะไปใช้ประโยชน์ใดๆ ต้องขออนุญาตชุมชนก่อน หรือชุมชนสามารถเอาผิดกับบริษัทนั้นๆ ได้

           พี่โยยังกล่าวว่า “การขึ้นทะเบียนพันธุกรรมในระดับชุมชนทำได้ง่าย ถึงแม้มีสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรการ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐสำหรับการขึ้นทะเบียนพันธุกรรมพืช แต่พบว่า มีระเบียบข้อปฏิบัติและขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้ระยะเวลานาน และต้องมีการยื่นแจ้งใหม่ทุกปี จึงเลือกวิธีให้ชาวบ้านในชุมชนเก็บพันธุ์พืชมา แล้วจัดเวทีแลกเปลี่ยนให้เกิดความชัดเจนของลักษณะพันธุ์พืชแต่ละชนิด จดบันทึกเป็นเอกสาร แล้วนำไปเสนอในที่ประชุมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้ออกมาเป็นข้อบัญญัติ แนวทางแบบนี้เหมาะสมที่สุด” กระบวนการนี้พี่โยได้ฝากเป็นข้อเสนอ ให้กับชุมชนอื่นๆ ในความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล กับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชในชุมชน แล้วร่วมกันบันทึกไว้เป็นข้อมูล โดยผ่านการรับรองจากองค์กรบริหารส่วนตำบลนั้นๆ ซึ่งเป็นการปกป้องพันธุกรรมพืชในระดับท้องถิ่น

ภาคประชาชนต้องร่วมกันปกป้องพันธุกรรมพืช

           พันธุกรรมพืชมีความสำคัญต่อระบบเกษตร และเป็นความต้องการของบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์เพื่อครอบครองพันธุ์ผ่านข้อตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ อย่างเช่นในปัจจุบันที่มีความพยายามในการผลักดันให้ไทยเข้าร่วมในความตกลงเปิดเสรีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ภาคประชาชนหลายส่วนได้คัดค้านด้วยเห็นว่าความตกลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องพันธุ์พืช ความหลากหลายทางพันธุกรรม เนื่องด้วยมีการเพิ่มอำนาจการผูกขาดให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืช เป็นต้น (อ้างอิง https://biothai.net/node/30595) “ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับการร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการผลักดันข้อตกลงดังกล่าว และต้องสร้างรูปธรรมการจัดการและปกป้องพันธุกรรมขึ้นมาในระดับท้องถิ่น” พี่โยกล่าวฝากไว้

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมท้องถิ่น : การขึ้นทะเบียนพันธุกรรมและวิสาหกิจโดยชุมชน”
วันที่ 17 มิถุนายน 2563 งานมหกรรมพื้นบ้าน ปี 2563
https://biothai.net/node/30595

บทความแนะนำ