โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

กลุ่มทำนาอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย 
 

1. ชื่อศูนย์ : กลุ่มทำนาอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย 

2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ 
          2.1 ที่ตั้ง: แปลงนาของนายช่วย สาสุข และสถานที่จัดกิจกรรมกลุ่ม เลขที่ 14 หมู่ 12 บ้านโพนละมั่ง ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 
          2.2 ลักษณะภูมินิเวศ : ทุ่งราบ ดินร่วนปนทราย 

3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม : ไม่มีแปลงรวม นาข้าวพันธุ์พื้นบ้านและข้าวพันธุ์ผสมขนาด 40 ไร่ อยู่ในแปลงนาของนายช่วย สาสุข ประกอบด้วยข้าวพื้นบ้าน ประมาณ 80 สายพันธุ์ และข้าวพันธุ์ผสมอีกประมาณ 20 สายพันธุ์ และอีกประมาณ 40 สายพันธุ์ที่เกิดเองจากแปลง และอยู่ในช่วงการทดลองปลูก 

4. ความเป็นมา : 
          เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจัดงานแลกเปลี่ยนพันธุกรรม นายช่วย สาสุข มีความคิดจะปลูกข้าวพื้นบ้านตั้งแต่ปีแรกที่จัดงาน และจากนั้นมาได้ไปร่วมงานทุกปี การหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเริ่มจากแลกเปลี่ยนมาจากเครือข่ายเกษตรซึ่งระดมมาจากอุบลราชธานี อุบลราชธานี มหาสารคาม และธนาคารเชื้อพันธุ์ รวมทั้งหาพันธุ์พื้นบ้านที่มีอยู่ในหมู่บ้านโพนละมั่ง 
          ครั้งแรกนายช่วย สาสุข เอามาทำแปลงหว่าน ดำ แยกเป็นพันธุ์ๆ ประมาณ 5 พันธุ์จากเครือข่ายเกษตรฯ ได้แก่ นางนวล โสมาลี ก่ำใบเขียว พม่า และหอมใบเตย และในท้องถิ่นต.หินกองมีพันธุ์มะลิดั้งเดิมเป็นหลัก ข้าวรากไผ่ ปลาซิว ป้องแอ้ว หมากม่วย ขาวใหญ่ ขาวกุง ปลูกข้าวดังกล่าวมาเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้นมาก็พยายามเก็บพันธุ์ สุดท้าย ณ ปัจจุบันที่ได้ปรับปรุงพันธุ์ เมื่อข้าวที่มันปนมาแล้วออกรวงก่อนก็จะเก็บเป็นพันธุ์ปรับปรุง สำหรับเกษตรกรคนอื่นจะตัดพันธุ์ปน แต่นายช่วยจะเก็บไว้ทำพันธุ์ปรับปรุง นำเอาภูมิปัญญาปู่ย่าตายายมาทำ คือเก็บข้าวปน จากพันธุ์หลักอะไร เช่น ข้าวปนจากแปลงข้าวขาว ลองมาปลูก 3 ฤดูการผลิต ให้มันนิ่งแล้วเอามาใช้ประโยชน์ ยังออกเค้าเดิมแต่ยังไม่นิ่ง ถือว่าพระแม่โพสพให้มาเป็นข้าวทิพย์ พันธุ์ปรับปรุงที่ทำอยู่ในลักษณะนี้มี 40 พันธุ์ แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ คิดไว้ว่าถ้าตั้งชื่อก็จะล้อกับพันธุ์เดิมเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 
          สมัยยังทำนาแบบปู่ย่าตายาย ไม่มีปุ๋ย ไม่มีสารเคมี เมื่อระยะหนึ่งปุ๋ยเข้ามา รัฐบาลให้ฟรีในปีแรก ปีต่อไปก็ขายให้ชาวบ้าน ในช่วงวัยหนุ่ม นายช่วย มาขายแรงงานในเมืองหลวงด้วยการรับจ้างทำอิฐบล็อก เพราะจบแค่ป.4 แต่อาศัยความขยันจึงสร้างตัวได้ กระทั่งยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ปี พ.ศ. 2540 เขาจึงกลับบ้านพร้อมเงิน 800,000 บาทกับรถยนต์ 2 คัน ไปทำนาที่เคยซื้อไว้ 30 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ในราคา 30,000 บาท เขากลับมาเริ่มทำนาเคมีปลูกข้าวพันธุ์มะลิดั้งเดิม ขายโรงสี และปลูกข้าวพื้นบ้านไว้กิน นายช่วยพบว่าข้าวที่ไปขายโรงสี ที่จริงแล้วเราไม่ได้ขายข้าว เราแค่เอาข้าวไปส่ง เพราะโรงสีเขาชั่งเอง ตั้งราคาเอง วัดความชื้นเอง ตรวจข้าวเอง ได้ราคาครั้งแรกโลละ 8.50 บ. แต่พอช่วงบ่ายเอาข้าวชุดเดิมไปขายได้ราคาม 5.80 บ. ก็พบว่าโรงสีน่าจะโกง เมื่อไปซื้อรำข้าว โรงสีขาย 6 บาทต่อกิโลกรัม ก็รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ คิดว่าทำอย่างไรจึงจะพึ่งตนเองได้ 
          กระทั่งปี พ.ศ. 2544 มีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทุ่งกุลาร้องไห้เกิดขึ้น และมีการอบรมให้ความรู้การทำนาอินทรีย์ไม่พึ่งสารเคมี นายช่วยและกลุ่มลุ่มน้ำเสียวน้อยได้เข้าร่วมโครงการนําร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย มีความคิดหาทางที่จะขายข้าวอินทรีย์ให้ได้ โดยปี พ.ศ. 2546 กลุ่มที่ทำด้วยกันมีอยู่ที่ อ.ปทุมรัตต์ อ.เกษตรวิสัย อ.สุวรรณภูมิ และอ.ท่าตูม ประชุมกันว่าจะทำนาอินทรีย์ โดยใช้เงินกองทุนหมุนเวียนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทุ่งกุลาร้องไห้ สมัครขอรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สมัคร 22 คน ประกอบด้วยสมาชิกในกลุ่มนายสุริยา นายวีรยุทธ กลุ่มหนองเม็ก กลุ่มพ่อศูนย์ และกลุ่มนายช่วย ผลปรากฎว่าผ่าน 12 คน ได้แก่ นายช่วย นายคำเบ้า นายบุญธรรม นายวันชัย และสมาชิกอีก 2 คน กลุ่มนายสุริยา นายวีรยุทธ พ่อศูนย์ และหนองเม็ก 
          ปี พ.ศ. 2547 ส่งข้าวไปขายกองทุนข้าวอินทรีย์สุรินทร์ พันธุ์หอมนิล มะลิแดง และมะลิ 105 โดยยังคงปลูกข้าวพื้นบ้านกินเองเหมือนเดิม ได้ต่อมาตรฐานมกท.ทุกปี ส่งข้าวให้กองทุนข้าวอินทรีย์สุรินทร์จนปี พ.ศ. 2551 คุณส้มป่อยบอกว่าข้าวอินทรีย์ที่เกษตรกรส่งออก คนไทยไม่ได้กิน นายช่วยจึงขอออกมาทำเองเพื่อให้คนไทยได้กิน 
          ช่วงที่เงินกองทุนหมดไม่ได้ต่อการขอรับรองมาตรฐานจากมกท. นายช่วย เริ่มทำตลาดข้าวเองด้วยการซื้อตะบันเก็น 1 ตัวจากยโสธรในราคา 2,000 บาท หมุนวันละ 400 ก.ก.(ข้าวเปลือก) จ้างคนมาฝัด 2 คนวันละ 100 บาท จากนั้นมาการทำข้าวขายก็เป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น ในจุดนี้สมาชิกที่ทำไม่ไหวก็หยุดทำนาอินทรีย์ ในกลุ่มนายช่วยมีนักพัฒนาเข้ามาช่วยพาไปขายข้าวตามงานออกร้านต่างๆ ต่อมาพัฒนาชุมชนเข้ามาในปี พ.ศ. 2553 ขอข้าว 6 กิโลกรัมแบบพร้อมขายเพื่อไปคัดสรรวัดระดับผลิตภัณฑ์ ผลปรากฏว่าได้ 4 ดาว จากนั้นมาก็นำข้าวไปขายตามงานต่างๆ เรื่อยมา โดยนายช่วยจะซื้อข้าวจากสมาชิกที่ทำนาอินทรีย์มาสีขายด้วย 
          ปี พ.ศ. 2553-2556 การขายข้าวก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามลำดับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้สติ๊กเกอร์ และให้เครื่องซีลสูญญากาศ 
          ปี พ.ศ. 2556 บริษัทโฟร์ลีฟฟอร์ไลฟ์ มาตกลงกับนายช่วย ให้ทำข้าว 101 สายพันธุ์ส่งให้ขาย ในวันแรกที่ออกสู่ตลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และขอนแก่น 5 คนวันนั้นที่มาร่วมงานวันข้าวหอมมะลิโลกที่บึงพลาญชัย ให้เกษตรกรหุงข้าวให้คนร่วมงานชิม 29 แห่ง (29 หม้อ) ของนายช่วย 101 สายพันธุ์ ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดชิมแล้วเรียกผู้ว่าฯ ด้วยกันชิมต่อ ทุกคนยกนิ้วหัวแม่โป้ง ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดท่านถามว่าข้าวมาจากไหน ใครทำ นายช่วยตอบว่า ตนเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำนา อยู่ที่อ.สุวรรณภูมิ ท่านก็บอกว่าข้าวนี่หาไม่มี ไม่มีใครเหมือนที่คนจะทำอย่างนี้ บอกว่าข้าวนี้ต้องขายกิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งนายช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในวันที่ไปอบรมที่โรงแรมเพชรรัตน์ รองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด บอกว่าข้าวหอมมะลิโลกทุ่งกุลานั้นขึ้นชื่อ แต่ข้าวนามจังหวัดร้อยเอ็ดยังไม่มีใครทำ เมื่อได้ยินรองผู้ว่าฯ พูดอย่างนี้ก็จุดประกายความคิดของนายช่วยว่าตนมีข้าวอยู่ 120 สายพันธุ์ ถ้าจะรวมกันทำไมจะทำไม่ได้ จึงเลยกลับมาทดลองรวมข้าวทั้งหมดที่มี 4 ครั้งจึงได้สูตรที่หุงแล้วอร่อย กลิ่นเหมือนข้าวหลามหนองมน ซึ่งข้าวสูตรนี้ก็ขายติดตลาดจนทุกวันนี้ 
          ปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิกที่ทำเกษตรอินทรีย์ 3 คน ได้แก่ นายช่วย สาสุข นายคำเบ้า ลีแวง และนายบุญธรรม เศษแสนวงษ์ ซึ่งร่วมกลุ่มกันมาตั้งแต่สมัยโครงการนำร่องฯ ส่วนสมาชิกรายอื่นก็ทำนาขายข้าวให้โรงสี แต่มีกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน เช่น วัวควาย ส่วนสมาชิกอีก 34 คน เป็นสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้ามาหลังจากจบโครงการนำร่องฯ ซึ่งเดิมชื่อกลุ่มคือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็น กลุ่มทำนาอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย โดยมีสมาชิกมาจากหลายที่และมีอาชีพอื่นนอกจากภาคเกษตรด้วย เช่น ผอ.รร. ตำรวจ พัฒนากรอำเภอ เป็นต้น 

5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม :
 
          1. เพื่อรวบรวม อนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น 
          2. เพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ 
          3. เพื่อเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายพันธุ์ข้าว 
                    วิสัยทัศน์ 
          ปลูกธำรง รักษา สร้างคุณค่า/มูลค่า พันธุกรรมหลากหลายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร 

6. โครงสร้างกลุ่มและสมาชิก : 
(สมาชิก 39 คน) 
          โครงสร้าง       1. นายช่วย สาสุข                               ประธาน 
                              2. นายบุญทัน เศษแสนวงค์ 
                              3. นายคำเบ้า ลีแวง 
                              4. นายสง่า สังฆะมณี 
                              5. นางสมปอง ทำจันทา 
                              6. นายรัตน์ สาหาร (นางกองทอง สาหาร) 
                              7. นายสังวร หาญสระคู 
                              8. นายสำราญ คำมณี 
                              9. น.ส.ระพีพร หาญสระคู 
                              10. นายเกษม จันทะคาม 
                              11. นางคำพอง ยามโสภา 
                              12.นายสมศักดิ์ ภักดิ์อภิสิทธิ์ 
                              13. นายณรงค์ วงศ์ณรัตน์ 
                              14. นางว่าน ขาวผ่อง 
                              15. นายศูนย์ สีหาวงษ์ 
                              16. นายประยูร พลภูงา 
                              17. นางสุดใจ เศษแสนวงษ์ 
                              18. นายอุดม บุญชะโด 
                              19. นายสมนึก สีดาว 
                              20. นายบุญลือ ทองประเสริฐดี 
                              21. นางบัวแย้ม หาญตับเหล็ก 
                              22. นางสุมาลี ทองหนา 
                              23. นายสมชาติ อุดมทรัพย์ 
                              24. นางคมขำ อุดมทรัพย์ 
                              25. นายร่วม อะทาโส 
                              26. นางชัญญา ธรรมสีดา 
                              27. นายจรูญ พลภูงา 
                              28. นายเฉลิม ทำจันทา 
                              29. นางอุดร กลางคาร 
                              30. นางทองวาส เสาร์สูงยาง 
                              31. นายประสิทธิ์ หาญตับเหล็ก 
                              32. นางบุญมี ใต้เขา 
                              33. นายธีรวัฒน์ วรรณปะเต 
                              34. นายสีพัดสอน กองพิธี 
                              35. นางนิรัตน์นิภัณฑ์ ศรีสุวรรณ 
                              36. นางประดับ โทขันธ์ 
                              37. นายสมชาย ศิลา 
                              38. นายสว่าง แจ้งสนาม 
                              39. นางอาภรณ์ คำแก้ว 

7. กิจกรรมของกลุ่ม :
 
          1. ประชุมปีละ 4 ครั้ง 
          2. รวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน 
          3. พัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมข้าว 
          4. ประเมินเพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 
          5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว 
          6. รณรงค์เผยแพร่ 
                    6.1 ประชาสัมพันธ์ผ่านงานบุญผะเหวดในชุมชน (งานบุญเดือนสี่) และงานบุญคุนลาน (งานบุญเดือนสาม) ที่จ.ยโสธร 
          7. งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภาคอีสาน 
          8. เข้าร่วมกิจกรรมกับกรมการข้าวในเรื่องการส่งเสริมเรื่องเกษตรปราดเปรื่องและวิศวกรรมไร่นา และเรื่องการตลาด 
          9. จัดอบรมเรื่องการปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรอินทรีย์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์หลักให้แก่สมาชิก นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ 
          10. ให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจทั่วไปในเรื่องเกษตรอินทรีย์และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง 

8. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน : 
          นายช่วย สาสุข เลขที่ 14 หมู่ 12 บ้านโพนละมั่ง ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 45130 หมายเลขโทรศัพท์ 086-1286819 

9.ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม :
 
          1. นายช่วย สาสุข การปรับปรุงดิน การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยชีวภาพ การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุกรรมข้าว การทำปศุสัตว์ และการฝึกควายไถนา 
          2. นายบุญทัน เศษแสนวงค์ การทำปุ๋ยชีวภาพ การรักษาโรคสัตว์แนวทางปศุสัตว์ เช่น วัวควาย ไก่ หมู เป็ด 
          3. นายคำเบ้า ลีแวง การทำปุ๋ยหมัก และการทำฮอร์โมน 

10. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน : 
          เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำการเกษตรในระบบอินทรีย์ทั้งหมดได้ เนื่องจากครอบครัวยังไม่เห็นพ้องต้องกัน และยังมีหนี้สินเดิม รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นลักษณะผู้จัดการนา ไม่ได้ทำนาเอง 

11. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก :
 
          ในเงื่อนไขที่ถ้ากลุ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบนาอินทรีย์ได้ทั้งหมด กลุ่มจะใหญ่ขึ้น ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีเงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย มาเป็นเงินซื้อข้าวของสมาชิกกลุ่มมาสีขาย แล้วเมื่อขายได้ก็นำเงินคืนกองทุน 

12. ความโดดเด่น :
 
          กลุ่มทำนาอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ ผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ออกสู่ตลาด และมีการอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปที่สนใจ 

บทความแนะนำ