โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

การจัดการปัญหาในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต้องมาจากคนในชุมชนที่ลุกขึ้นมากำหนดทิศทางในการพัฒนาด้วยตนเอง ดังเช่นการจัดตั้งธรรมนูญชุมชน หรือ กฎกติกา ที่ให้ความสำคัญกับคนในชุมชนโดยผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมในการหารือ/วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลมาประกอบการวางแผน การสร้างความตระหนัก และหามาตรการในการจัดการปัญหาร่วมกัน โดยเล็งเห็นความยั่งยืนในระดับพื้นที่เป็นที่ตั้ง ธรรมนูญชุมชนอาจถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่หลายชุมชนที่ลุกขึ้นมากำหนดกรอบในการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง ทั้งในมิติเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่า) อาหาร และสุขภาพของคนในชุมชน โดยไม่ได้รอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกแต่เริ่มต้นจากชุมชนเอง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนดังกล่าว โดยเฉพาะแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างไรให้ยั่งยืน

บ้านห้วยโป่งสามัคคี หมู่ 11 ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจในการกำหนดธรรมนูญในมิติด้านอาหารและสุขภาพ โดยเฉพาะการห้ามพ่นสารเคมีทางการเกษตรในหมู่บ้าน และห้ามติดป้ายโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรในชุมชน ธรรมนูญนี้เกิดขึ้นเนื่องจากคนในชุมชนตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งในระดับตำบลที่สูงถึง 60-70% นายทนงค์ ใจทัน กำนันบ้านห้วยโป่งสามัคคีได้แลกเปลี่ยนถึงการปฏิบัติตามธรรมนูญของคนในชุมชนดังนี้


   "ในช่วงแรกคนในชุมชนบางส่วนยังไม่ปฏิบัติเคร่งครัดภายใต้หลักธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดปฏิบัติร่วมกันเนื่องจากเป็นมติเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ ประกอบกับประสบการณ์ตรงที่เห็นว่าอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรไม่ได้อยู่ไกลตัว ซึ่งเห็นได้ชัดจากการป่วยของคนในชุมชนที่มีการพ่นยาฆ่าหญ้าอย่างเข้มข้น” 

หลักธรรมนูญดังข้างต้นนั้นได้ทำควบคู่กับการทำสวนหลังบ้าน โดยปลูกพืชผักสวนครัว/พืชผักตามฤดูกาล เพื่อผลิตเป็นอาหาร แบ่งปัน และสร้างรายได้ให้กับคนชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชนได้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการปลูกผักและแลกเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการแปลงการผลิตร่วมกันในพื้นที่กลาง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่จัดสรรให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรเชิงชีวภาพ เพื่อเป็นพื้นที่พบปะของสมาชิกในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักจุลินทรีย์

การจัดการในมิติอาหารและสุขภาพของชุมชนบ้านห้วยโป่ง อาจไม่ใช่ต้นแบบหรือโมเดลที่ใหม่ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ชุมชนให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่เชื่อมโยงเข้ากับคนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งไม่ได้มองเฉพาะผลิตอาหาร แต่มองถึงการแบ่งปัน คุณภาพด้านการผลิตและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย

บทความแนะนำ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น : กลับบ้านสานต่อเกษตรกรรมยั่งยืน โดย นางสาวสุประวีณ์ มาตขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยโสธร