โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 29 พันธุกรรมสัตว์ :ความหลากหลายที่ผสมผสานเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน

       การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยตัวเกษตรกรเอง เป็นแนวทางที่สามารถสร้างความหลากหลายและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น ด้วยปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ถูกเน้นไปสู่ระบบอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยเงินลงทุนสูง และอยู่ในความดูแลจัดการของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่เรียกว่า “ระบบเกษตรพันธะสัญญา” หรือ “Contract Farming” โดยบริษัทจะจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ วัคซีนป้องกันโรคมาให้ เมื่อครบกำหนดก็รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน ดังนั้น เนื้อสัตว์ที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงผ่านการผลิตในระบบดังกล่าว ส่งผลให้บทบาทของเกษตรกรในการจัดการและพัฒนาพันธุ์สัตว์ลดลงไป และในตลาดแถบหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติมาบริโภคได้ยาก

       ที่สำคัญการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรายได้ของเกษตรกร หากกระบวนการเลี้ยงไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตามที่บริษัทกำหนด บริษัทจะไม่รับซื้อ เกษตรกรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่วนผู้บริโภคอาจต้องเผชิญกับสารตกค้างในเนื้อสัตว์ ที่เกิดจากการเร่งเวลาและปริมาณในการผลิต สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีทางเกษตรในกระบวนการเลี้ยง

การดูแลจัดการพันธุกรรมสัตว์โดยเกษตรกร

       อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรจำนวนมากที่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบการเลี้ยงสัตว์ที่มีการจัดการ ดูแลโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมแล้วนำประยุกต์กับความรู้ใหม่ เพื่อให้เนื้อสัตว์ได้คุณภาพที่ดี ไม่ทำหลายสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อการบริโภค สามารถพึ่งตนเองด้านพันธุ์ อาหารสัตว์และการจัดการตลาด เป็นหนึ่งเดียวกันกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

       ในเวทีแลกเปลี่ยน พันธุกรรมสัตว์ : ความหลากหลายที่ผสมผสานเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ภายใต้งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 ได้มีตัวแทนเกษตรกรทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงเซฟทำอาหาร มานำเสนอประสบการณ์ การดูแลและจัดการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะไก่ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ เช่น

  • เกียรติศักดิ์ ฉัตรดี จากสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ เลี้ยงไก่แบบปล่อยแต่มีโรงเรือนไว้ให้ไก่ได้พัก มีพื้นที่ปลูกหญ้าและระบบจัดการน้ำได้ให้ไก่ได้จิกกิน พันธุ์ไก่ที่ใช้เป็นไก่เนื้อผสมกับไก่พม่า ผลิตอาหารไก่เอง โดยใช้ข้าวโพดพันธุ์พื้นบ้าน ปลายข้าว ถั่วเหลือง จากแปลงเกษตร แต่ต้องซื้อปลาป่นมาผสม ผลผลิตที่ได้ตัวเนื้อไก่มีผิวสีขาวนวล อมเหลือง ขายในชุมชนเป็นไก่เนื้อปริมาณ 100-200 ตัว/เดือน
  • วีระยุทธ สุวัฒน์ ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดร้อยเอ็ด ไก่ที่เลี้ยงใช้พันธุ์โร๊ดผสมกับประดู่ดำ อาหารที่ให้ไก่กินมีถั่วเขียวบดผสมกับปลายข้าว ไม่ได้ให้กินปลาป่นและไม่มีการซื้อหัวอาหารจากตลาด มีการให้เศษพืชผักที่ปลูก หรือหญ้าที่ไปถอน หรือข้าวสุกที่กินเหลือหว่านไปให้ไก่กิน ถ้ามีดอกดาวเรืองก็ให้กินเพราะไข่จะออกมาสีสวย การเจริญเติบโตได้ดี สามารถให้ทั้งไข่และเนื้อ ขายในชุมชนราคา 80-100 บาท/กก. ถ้านำไปขายในตลาดสีเขียวก็ได้ราคา 120-150 บาท/กก.
  • สำหรับอรุณ หวายคำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย มีประสบการณ์เลี้ยงไก่มานานกว่า 20 ปี เลือกที่จะเลี้ยงไก่ชน เพราะไก่ชนเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ เน้นการเลี้ยงขายพันธุ์ เพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบการชนไก่ จึงต้องรู้จักลักษณะสายพันธุ์แล้วนำมาพัฒนาพันธุ์ ต้องดูศักยภาพแต่ละตัวลักษณะสี ขน คอ ขา ฯลฯ และสายพันธุ์ที่เลี้ยงไม่ตายตัวขึ้นกับตลาดและวงการไก่ชน ขึ้นกับคนเลี้ยงว่าชอบหรือถนัดเลี้ยงพันธุ์ใด ที่สำคัญการเลี้ยงไก่ เป็นการสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นบ้าน
  • ก้องเกียรติ ถาดทอด ฉายาเจ้าชายสัตว์ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดทั้งไก่เนื้อ ไก่ชน เป็ด ห่าน ปลา วัว ม้า ควาย แพะในซอยวัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นคนที่ชอบเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ และเชื่อมั่นว่า พันธุกรรมสัตว์สำคัญมาก มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้พันธุ์แท้ เพื่อนำไปขาย ส่วนแพะมีทั้งขายลูกและรีดนมบรรจุขวดขาย
  • สวาท อุปฮาด เครือข่ายตลาดสีเขียว จ.ขอนแก่น เลี้ยงไก่ปล่อยธรรมชาติที่บ้านและรวบรวมไก่พื้นบ้านในชุมชน เพื่อแปรรูปเป็นอาหาร หรือขายไก่สดในตลาดสีเขียวขอนแก่น รวมถึงส่งไก่สดเป็นตัวให้กับร้านอาหารในกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ทำให้เรียนรู้ว่า ไก่รุ่น ไก่สาวเล็กๆ ที่ยังไม่เป็นแม่พันธุ์เนื้อจะนุ่มรสชาติดี เหมาะทำไก่ย่าง แต่ถ้าเป็นไก่พร้อมที่จะไข่ต้องเอาไปต้มหรือทำข้าวมันไก่ ส่วนไก่มีอายุหนังเหนียวเหมาะไปทำน้ำสต๊อก
  • อำนาจ เรียนสร้อย บริษัทแทนคุณออการ์นิคฟาร์ม จ.นครปฐม ใช้ไก่พันธุ์ตะเภาทอง พยายามเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แต่ปัจจุบันต้องพึ่งพาวัตถุดิบบางส่วนเช่นถั่วเหลือง ปลาป่น จากภายนอก มีการชักชวนเกษตรกรรายอื่นมาร่วมกันเลี้ยงไก่ โดยทำหน้าที่แนะนำวิธีการเลี้ยง การดูแล และจัดหาตลาดให้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากร้านอาหารในกรุงเทพฯ โดยมีความต้องการราว 300-400 ตัวต่อสัปดาห์

       ตัวอย่างข้างต้นเห็นได้ว่า สายพันธุ์ไก่มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัด และเป้าประสงค์ของคนเลี้ยง ที่สำคัญได้มีการผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงไก่ที่วัตถุดิบมาจากแปลงเกษตร รวมทั้งการเก็บหาเอา เช่น หญ้าและเศษอาหารในครัวเรือนมาให้ไก่กิน แต่ยังคงมีการพึ่งพาจากภายนอก โดยเฉพาะปลาป่น ส่วนด้านการตลาด มีทัั้งขายเป็นเนื้อ ทำอาหารทั้งในระดับชุมชนและส่งให้กับร้านอาหาร

       ในขณะเดียวกัน เชพขุน ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของร้าน Trust me I’m chef อยากทำอาหารที่ดีมีคุณภาพให้กับผู้บริโภค จึงคำนึงการคัดเลือกวัตถุดิบในการทำอาหารที่ต้องผลิตแบบอินทรีย์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องมีความหลากหลาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กินตามฤดูกาล และต้องดึงจุดเด่นของวัตถุดิบแต่ละชนิด รวมทั้งมีเรื่องเล่า ความเป็นมา คุณค่าด้านโภชนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และทำให้ผู้บริโภคตระหนักความสำคัญของอาหาร

ข้อจำกัดในการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน

       ในความเป็นจริง ชุมชนเกษตรส่วนใหญ่จะมีการเลี้ยงไก่บ้านในทุกครัวเรือน พอได้กินไข่และทำอาหารกิน แต่การวางกฎเกณฑ์การเลี้ยงและฆ่าสัตว์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่รัฐได้กำหนดขึ้น ทำให้การเลี้ยงสัตว์ถูกควบคุมดูแลด้วยบริษัทภายในเกษตรพันธะสัญญา รวมถึงระเบียบการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายต้องผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตในการฆ่าสัตว์เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดช่องทางการซื้อขายไก่หรือชำแหละไก่ด้วยเกษตรกรเอง

ข้อคิดเห็นต่อการจัดการพันธุกรรมสัตว์โดยเกษตรกร

       ควรต้องมีช่องทาง หรือนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้กับเกษตรกรในการจัดการดูแลเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่การเลือกจัดหาพันธุ์ การจัดหาอาหารสำหรับเลี้ยง การจัดการตลาดและแปรรูป ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เกิดความหลากหลายของพันธุกรรมสัตว์ที่ไม่ถูกผูกขาดด้วยบริษัทหรือคนเลี้ยงรายใหญ่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างรูปธรรมที่ให้เห็นความยั่งยืนของชุมชน มีโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐานและใช้ต้นทุนไม่มากเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ ต้องมีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาพันธุ์ การเลี้ยง การดูแล การจัดการอาหารเพิ่มขึ้น และสร้างให้เกิดเครือข่ายพันธุกรรมสัตว์ในกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมสัตว์ : ความหลากหลายที่ผสมผสานเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563

บทความแนะนำ