ตอนที่ 4 ป่าร่วมยางสถานะความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติณฐา ชัยเพชร บ้านคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
“รูปธรรมการทำสวนยางพาราในชุมชนคลองยอนั้น มีการสร้างความหลากหลายของพันธุกรรมพืช ทั้งในแปลงยางพาราที่กรีดน้ำยางได้แล้ว และแปลงยางพาราที่อายุไม่เกิน 3 ปี ซึ่งสามารถเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ข้าวไร่ พืชตระกูลถั่ว ไม้ยืนต้น ไม้ผล สมุนไพร พืชหัว หรืออื่นๆ เมื่อมีวิกฤตโรคระบาด หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือราคายางพาราตกต่ำ คนในชุมชนคลองยอเกือบ 100 ครัวเรือน สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ เพราะในแปลงเกษตรของแต่ละครอบครัวได้สร้างความหลากหลายของพันธุ์พืชที่นำมาเป็นอาหารเอาไว้แล้วนั่นเอง” (ณฐา ชัยเพชร สัมภาษณ์ 12 เมษายน 2563)
การเกษตรที่บ้านคลองยอ
บ้านคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีสภาพพื้นที่ที่เรียกว่าควนเขา และมีพื้นที่ราบระหว่างควนเขาเล็กน้อย อาชีพหลักของคนคลองยอ คือ การทำสวนยาง หากย้อนกลับไปในช่วงปี 2524 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำสวนยางของคนของยอ จากการมีพืชผักไม้ผลหลายชนิด มาเป็นการปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้ทั้งเงินทุนซื้อกล้ายางพันธุ์ผสม ซื้อปุ๋ย ยากำจัดวัชพืชและให้ความรู้ ที่ดินในชุมชนตามควนเขาที่เป็นป่าธรรมชาติจึงถูกรุกถากถางเพื่อปรับมาปลูกยางพารา
ไม่ต่างกับครอบครัวของจ๋า หรือ ณฐา ชัยเพชร ที่ปัจจุบันอายุย่าง 50 ปี ความทรงจำวัยเด็ก ในสวนยางนั้นมีพืชไม้ผลหลายชนิด มีต้นสะตอ ลูกเหนียง มะพร้าว ที่เคยเข้าไปวิ่งเล่นเก็บลูกยางพารา เก็บมะพร้าวมาให้แม่ทำขนมและอาหาร แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานและสวนยางพาราเป็นแบบเชิงเดี่ยว จ๋าและครอบครัวมีหน้าที่ทั้งใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดยากำจัดวัชพืช เพื่อหวังให้ยางมีผลผลิตที่ดีไปส่งขายได้ราคา การใช้วิถีเกษตรในแปลงยางพาราของจ๋าดำเนินไปราว 20 ปี ส่งผลต่อสุขภาพของจ๋าเอง ปี 2545 เป็นต้นมาจ๋าเจ็บป่วยบ่อย ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภูมิแพ้ ร่างกายอ่อนแอ พึ่งพาหาหมอได้ยามากินก็ไม่ได้ดีขึ้น….
จุดเปลี่ยนจากยางเชิงเดี่ยว สู่ป่าร่วมยาง
ปลายปี 47 จ๋าได้มีโอกาส เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าเป็นเวทีประชุม ศึกษาดูงานกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้เท่านั้น จ๋าได้เดินทางไปที่ต่างๆ ทำให้ได้รู้จักเกษตรกรทั้ง 4 ภาค
ตัวอย่างที่ได้ไปเรียนรู้แล้วเชื่อมั่นและกลับมาปฏิบัติในแปลงเกษตรของตนทันทีก็คือ การไปดูงานเกษตรธาตุ 4 ของป๊ะหรน หมัดหลี ในปี 2548 เริ่มลดการใช้สารเคมีในแปลงยางพารา ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตขึ้นมาไม่ถางทิ้ง พบว่าพืชที่เติบโตขึ้นมานั้นเป็นพืชที่เคยมีอยู่และหายไป ที่สำคัญหลายชนิดนำทำเป็นอาหารได้ เช่น ต้นชุมไกล หมากบก ยายกลั้ง ชะมวง ตาเป็ด ตาไก่ จิก จากนั้นค่อยๆ ลดและเลิกการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาจำกัดวัชพืชในที่สุด แต่จะใช้น้ำหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน แล้วปล่อยให้พืชท้องถิ่นเติบโตขึ้นเอง รวมทั้งหาพืชอื่น ๆ ที่เห็นว่ามีประโยชน์ มีคุณค่ามาปลูกเพิ่มเติม
ถึงปีนี้ (2563) แปลงเกษตรเนื้อที่ 12 ไร่ ประกอบไปด้วยต้นยางพาราร่วมกับพืชอื่นๆ นับรวมกว่า 300 ชนิด มีทั้งไม้ยืนต้นจำพวก พยุง ยางนา ตะเคียนทอง ตำเสา ลูกเนียง สะตอ รังแข จำปูลิง เนียงนก หมากยอดเรียบ กระท้อนบ้าน พืชตระกูลหัว เช่น ข่า ขิง เปราะงาม กระทือทั้งแดงและขาว พืชสมุนไพร ไม้กินยอดและไผ่ต่างๆ โดยเฉพาะผักเหมียงที่เริ่มเอามาปลูกในปี 2554 นั้น ถึงวันนี้มีมากกว่า 1,000 ต้น ทำรายได้ในปี 2562 กว่า 50,000 บาท และพืชผักอื่นๆ อีกกว่า 20,000 บาท
ขยายผลป่าร่วมยางในชุมชนคลองยอ
เรื่องราวที่จ๋าได้ไปเรียนรู้มานั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ตัวเอง แต่ได้ถูกนำไปเล่าให้กับคนในชุมชนบ้านคลองยอ หรือไม่ก็ถูกชักชวนออกไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เพื่อให้เห็น ให้รู้แล้วกลับมาทำ ถึงวันนี้ได้เกิดกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มป่าร่วมยาง กลุ่มข้าวและผักปลอดภัย กลุ่มแปรรูปเครื่องแกงข้าวยำ กลุ่มเหล่านี้ได้สร้างรูปธรรมความหลากหลายของพันธุ์พืชในแปลงเกษตร จ๋าเล่าให้ฟังว่า “นับวันยิ่งจะขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นนับรวมแล้วเกือบ 100 ครอบครัว เพราะต่างก็ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการมีพืชผักหลากหลาย ที่สำคัญเมื่อราคายางพาราตกต่ำอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของการนำข้าวไร่มาปลูกทดแทนยางพารา และด้วยวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น สร้างความไม่แน่นอนด้านผลผลิตแล้ว การทำให้แปลงเกษตรมีความหลากหลายของพันธุ์พืชย่อมเป็นทางเลือกของเกษตรกร”
นอกจากนี้ ชุมชนยังให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ได้ผลักดันให้มีกลุ่มกิจกรรมกับเด็กที่เข้ามาเรียนรู้ เช่น กลุ่มตอกหมากที่จะนำกาบหมากมาแปรรูปเป็นจาน ของใช้ต่างๆ กลุ่มผักเหนาะที่เรียนรู้การอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน รู้จักกิน รู้จักใช้และรู้จักปลูก
รูปแบบป่าร่วมยางสอดคล้องการทำเกษตรยั่งยืน
การปลูกพืชร่วมยางทั้งในแปลงยางที่ให้น้ำยางแล้ว และแปลงยางขนาดเล็กอายุไม่เกิน 3 ปี ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยความหลากหลายของพันธุ์พืชหลากชนิดได้สร้างความสมดุลของนิเวศที่เกิดขึ้นในแปลงเกษตร พืชที่หลากหลายมีบทบาทช่วยให้หน้าดินไม่ถูกทำลายในช่วงฤดูฝนกรณีที่ีเกิดน้ำไหลหลาก เป็นแนวกำบังลมไม่ให้เข้าทำลายพืชผลที่ปลูก รักษาความชุ่มชื้นของหน้าดินอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นได้สร้างอินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายเป็นธาตุอาหารคืนให้กับดิน อีกทั้งสามารถป้องกันไม่ให้โรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ เข้าทำลายผลผลิตจนเกิดความเสียหาย
ความหลากหลายของชนิดพืชนอกเหนือจากการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดขึ้นในแปลงเกษตรแล้ว ผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงของอาหารในครัวเรือน เป็นแหล่งรายได้ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในระยะเวลาที่ต่างกันทำให้มีรายได้สม่ำเสมอ เป็นแหล่งรวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ที่สำคัญไม่ว่ามีวิกฤตใดๆ เกิดขึ้น ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด ความหลากหลายของผลผลิตทั้งที่เก็บสะสมไว้ หรือเก็บหาได้ตลอดเวลา สามารถนำมาเป็นอาหารได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีการเก็บรวบรวมพันธุ์พืชพันธุ์ผักไว้สำหรับการปลูกต่อไป
# เกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ทางรอดจากวิกฤต
# เกษตรกรรมยั่งยืนสู้วิกฤตโควิด 19
# ไทยรู้สู้โควิด