โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอน วิกฤติชาวนาผ่านข้อเสนอแนะต่อแผน 13

โดย คุณกิมอัง คงนาราย สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย

         “ทำนาเป็นหนี้” สะท้อนถึงความเป็นจริงของชาวนาในทุกวันนี้ที่เผชิญกับการขาดทุนจากกลไกการตลาด ซึ่งหากพิจารณาต้นทุนการผลิตจะพบว่าต้นทุนผลิตข้าวค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 81 บาท/ถัง แต่เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาเพียง 60 บาท/ถัง จึงทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ขาดทุน ประกอบกับสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าศึกษาเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ที่ส่งผลให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ชาวนาหลายรายจึงหาทางออกโดยการกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ ซึ่งถ้าหากเทียบระบบการผลิตในอดีตนั้นชาวนาไม่เป็นหนี้ด้วยผลิตข้าวไว้บริโภคเป็นหลักโดยต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่หาได้ในแปลงการผลิต แหล่งกู้ยืมเงินของชาวนาส่วนใหญ่กู้จากสถาบันการเงินของรัฐ บางส่วนกู้ยืมเงินจากเงินกู้นอกระบบ รวมถึงการซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นเงินเชื่อจากร้านการเกษตรที่มักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง หากเกษตรกรไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนตามกำหนดก็เสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สินซึ่งรวมถึงที่ดินทำกิน ที่สอดคล้องกับเกษตรกรในปัจจุบันจากเคยมีที่ดินทำกิน 20-30 ไร่ ก็ทยอยขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ทำให้พื้นที่ทำนาลดลงเหลือเพียง 5-10 ไร่ หรือบางรายต้องไปเช่าพื้นที่ทำนาโดยแบกรับต้นทุนค่าเช่านาที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สูงเช่นกัน

ข้อเสนอแนะต่อแผน 13

  • กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถือเป็นทางออกหนึ่งให้กับเกษตรกรลงทะเบียนเพื่อให้กองทุนฯ จัดการซื้อหนี้เกษตรกร ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ไปลงทะเบียนไว้กับกองทุนฯ ประมาณ 560,000 ราย มีเกษตรกรที่ได้รับการซื้อหนี้โดยนำที่ดินมาไว้ที่กองทุนฯ เพียง 30,000 ราย คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมด 1 แสนกว่าไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงที่ดินของเกษตรกรที่กำลังจะหลุดมือนั้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเสนอให้แผน 13 มีแผนในการรองรับเกษตรกรผ่านการสนับสนุนเงินทุนในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่มีความยั่งยืนเพื่อให้เกษตรกรยังคงสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ รวมถึงรัฐควรมีการจัดสรรที่ดินทำการเกษตรให้กับเกษตรกรโดยกำหนดเงื่อนไขการผลิตที่เกษตรกรต้องปรับระบบการผลิตมุ่งสู่การทำเกษตรอินทรีย์
  • เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนหนุ่มสาววัยแรงงานไปทำงานในโรงงาน จึงทำให้รูปแบบการทำนาที่เปลี่ยนอยู่ในระบบบการจ้างเป็นหลักแม้ว่าต้นทุนการผลิตสูงด้วยข้อจำกัดแรงงาน และปัจจัยการผลิตอื่นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับราคาข้าวตกต่ำที่ทำให้เกษตรกรขาดทุน รวมถึงผลผลิตข้าวที่เสียหายจากความแปรปรวนภูมิอากาศโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ได้ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของเกษตรกรลดลงถึง 60% ดังนั้นจึงเสนอให้แผน 13 มีการระบุถึงสวัสดิการของชาวนาที่ทัดเทียมกับอาชีพอื่นในการเข้าถึงเงินทุน ประกันภัยพืชผลทางการเกษตร การรักษาพยาบาล ฯลฯ

อ้างอิง: สัมมนาออนไลน์ ครั้งที่ 2 ข้อเสนอแนะต่อแผน 13 “ชาวนาอยู่ตรงไหนในแผน 13”. สัมมนาโต๊ะกลม “เส้นทางที่ชาวนาไทยเลือก (เดิน): ข้อเสนอต่อแผนฯ 13 จากเครือข่ายเกษตรกรรมและภาควิชาการ” วันที่ 7 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น.

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.