เรวดี ประเสริฐเจริญสุข มีข้อคิดเห็นต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในประเด็น “การลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งหากมาดูมาตรการหรือแผนปฏิบัติการ กลับไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้แผนระดับกระทรวง กรม ไม่มีหลักประกันในการดำเนินการ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่าจะลดความเหลื่อมล้ำไปได้อย่างไร ? ที่สำคัญบทเรียนการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นช่องว่างที่ขยายมากยิ่งขึ้น ในขณะการนำเสนอภาพรวมของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ครอบคลุมทุกประเด็น ไม่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้และกระจายให้เกิดเข้าถึงการช่วยเหลือนั้นๆ แต่ในข้อเท็จจริงยังไม่เห็นมาตรการหรือแผนปฏิบัติที่จะเข้าไปจัดการ
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นช่องว่างขยายมากขึ้นนั้น เนื่องจากการมุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม และอัตราการเจริญเติบโตของ จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ที่สูงขึ้น โดยละเลยภาคเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน หรือกลุ่มคนฐานราก ชาวประมง เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ และปล่อยให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำให้เป็นสินค้านำไปรับใช้ตลาดโลกมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ดังนั้น การมุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมและการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นอยู่ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นจริงหรือไม่ ? ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีข้อเสนอดังนี้
- รัฐต้องคำนึงและยอมรับสิทธิมนุษยชนในทุกๆ ด้าน เพื่อรับรองแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีปัจจัย 4 อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ เช่น การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน การให้ความสำคัญกับเพศสภาพที่หลากหลาย การพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนฐานราก ไม่ว่าผู้หญิงในภาคชนบท กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรเพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
- ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักโดยเฉพาะกลุ่มคนฐานรากและกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อเข้ามาร่วมยกระดับการพัฒนาในทุกด้านและทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การพัฒนาและศึกษาระบบข้อมูล การปฏิบัติการหรือการศึกษาวิจัย การติดตามประเมินผล รวมทั้งการกำหนดงบประมาณในการดำเนินงาน
- ให้ความสำคัญต่อความรู้ที่เป็นงานศึกษาวิจัย หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้มีการศึกษาและรวบรวมแล้วในระดับพื้นที่ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
จากข้อเสนอดังกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสภาพัฒน์จะนำความคิดเห็นไปปรับปรุง เพื่อนำไปสู่มาตรการที่จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นช่องว่างของการพัฒนา และเกิดการร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัตินำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้