โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            ตอน 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13: “ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญ” โดยคุณกัลยา ใหญ่ประสาน  ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ

            จากการร่วมกันระดมความเห็นโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 นั้นมองว่า “ความมั่นคงทางอาหารนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ” แต่ในกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ไม่มีความชัดเจนในการระบุถึงภาคการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 ที่ระบุเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 5 ล้านไร่ ประกอบกับไม่ได้มีการประเมินแผนพัฒนาฯ ที่ผ่านมาว่าได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมากน้อยเพียงใด และควรจะเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างไร เพราะระบบการผลิตดังกล่าวเป็นพื้นฐานทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากแผนพัฒนาฯ ไม่ชัดเจนในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน แต่ระบุถึงเกษตรปลอดภัยที่คลุมเครือที่ยังคงสามารถใช้สารเคมีฯ ในระบบการผลิตซึ่งถือเป็นปัญหาให้กับประเทศเป็นอย่างมากในการพึ่งตนเอง ดังข้อคิดเห็นที่ว่า

            “สิ่งที่ขาดในกรอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ ขาดการทบทวนแนวคิดขั้นพื้นฐานในเรื่องของการพึ่งพาตนเอง การสนับสนุนประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและผสมผสานกับเทคโนโลยี โดยเป็นเพียงแผนพัฒนาฯ ที่อยู่บนกระดาษแต่ว่าไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”

การสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่

            คนรุ่นใหม่ถือเป็นอีกประเด็นที่มีบทบาทมากในการสืบทอดระบบการผลิตในการสร้างพื้นที่อาหารให้กับประเทศ คนรุ่นใหม่ต้องการกลับบ้านเพื่อทำการเกษตร แต่ด้วยต้นทุนเดิม (เช่น องค์ความรู้ ที่ดิน เงินทุน ฯลฯ) ที่แตกต่างกันทำให้เป็นข้อจำกัดในการเริ่มต้นหรือต่อยอดในการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามในกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ไม่มีการกล่าวถึงการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ และแม้ว่าที่ผ่านมารัฐได้มีโครงการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ผ่านหลากหลายโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการ Young Smart Farmer ที่คนรุ่นใหม่สะท้อนว่าโครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการที่เติมความรู้ผ่านการอบรมและให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่าย Young Smart Farmer ซึ่งหลังจบโครงการฯ คนรุ่นใหม่บางส่วนยังคงไม่สามารถพัฒนาต่อยอดจากโครงการได้จริง ด้วยข้อจำกัดนี้คนรุ่นใหม่จึงมีข้อเสนอดังนี้

  • ให้มีการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติได้จริงแบบครบวงจร ทั้งการผลิต/นวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรกรรมยั่งยืน ตลาด มาตรฐาน แปรรูป สื่อสาร การเขียนโครงการ/แหล่งทุน การทำแผนธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิต
  • การจัดตั้งกองทุนที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ให้กลับมาทำเกษตรได้จริง โดยในช่วงระยะแรกให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนอย่างน้อย 3 ปี

สิทธิการเข้าถึงที่ดินทำกิน

            กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 นั้นไม่ได้กล่าวถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงอาหารให้กับพื้นที่ แต่เกษตรกรไทยนั้นยังเข้าถึงได้อย่างจำกัด เนื่องจากรัฐไทยนั้นยังไม่เปิดโอกาสให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรบนพื้นที่สูง (พี่น้องชาติพันธุ์) นั้น ยังขาดสิทธิที่ดินทำกินของตนเองเพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ในการสร้างความมั่นคงอาหารให้กับตนเองและครอบครัว เพราะทุกวันนี้เกษตรกรเข้าถึงที่สิทธิที่ดินทำกินน้อยรายทำให้ส่วนใหญ่ต้องไปเช่าพื้นที่กับนายทุนทั้งหมด ซึ่งน้อยมากที่สามารถจัดการในพื้นที่ของตนเอง ในการสร้างพื้นที่อาหาร และพื้นที่สีเขียวที่เป็นเกษตรอินทรีย์ หรือวนเกษตร หรือเกษตรภูมิปัญญาเหมือนกับภาคใต้ ภาคอีสาน ที่มีชื่อเรียกเฉพาะที่ต่างกัน โดยหลักการคือเป็นพื้นที่ที่สร้างพื้นที่ทางอาหารของครอบครัวและชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอดังนี้

  • จัดตั้งกองทุนหรือธนาคารที่ดิน เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึงที่ดินทำกินในการสร้างแรงจูงใจเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน (การทำเกษตรอินทรีย์) การทำเกษตรปลอดภัย เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่ดี ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักกับ 13 หมุดหมายก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรในระดับรากหญ้าได้เข้าถึงได้จริง ซึ่งพื้นฐานเบื้องต้นอยู่ที่เรื่องสิทธิที่ดินเป็นหลัก
  • ให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินของรัฐให้คนในชุมชนนมีสิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ตามแนวทางของ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 รวมทั้งสิทธิชุมชนเพื่อเร่งให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน

พันธุกรรมพื้นบ้าน

            กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 รวมถึงแผนพัฒนาฯ ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแปรรูป และการสร้างพันธุกรรมพันธุ์พืชใหม่ โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ การสร้างความหลากหลายที่ใช้พันธุกรรมพืชพื้นบ้าน/พืชพื้นถิ่นซึ่งถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการสร้างพื้นที่อาหาร หรือเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น/ชุมชน งานด้านพันธุกรรมกับงานภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์ถึงความมั่นคงทางอาหาร โดยในระยะหลังจะสังเกตเห็นว่าในตลาดทุกวันนี้ผักพื้นบ้านมีความหลากหลายน้อยลง แม้ว่าบางส่วนยังคงมีบ้างในตลาดแต่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมบริโภค ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังคงกีดกันและไม่ให้ความสำคัญเรื่องพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน ดังจะเห็นในกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ไม่ได้ระบุถึงทิศทางการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ชุมชนมีการรักษาพันธุ์พืชพื้นบ้านได้อย่างชัดเจน กลับกันสนับสนุน/เปิดโอกาสให้กับนายทุนเข้ามาวิจัยแล้วนำไปทำพันธุ์ต่อ ซึ่งเกษตรกรที่เป็นคนชนบทที่เป็นคนรากหญ้าก็จะเสียเปรียบนายทุนฝ่ายเดียว ซึ่งเห็นภาพในอนาคตที่ชัดเจนว่าเกษตรกรไทยไม่สามารถพึ่งตนเองในแง่ปัจจัยการผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการลดศักยภาพในการผลิตและการสร้างความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรไทยอย่างสิ้นเชิง แต่เอื้อให้กับนายทุนแล้วมาบีบบังคับเรื่องศักยภาพการผลิตอาหารของพี่น้องเกษตรกรไทยที่ใช้ภูมิปัญญามาตั้งแต่อดีต โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพียงว่าจะต้องนำมาปรับใช้ให้เกิดความสมดุลที่มีช่องว่างให้ชุมชนหรือเกษตรกรไทยในระดับรากหญ้ามีโอกาสได้เลือกได้ด้วยตนเอง ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอดังนี้

  • รณรงค์สร้างความตระหนักและร่วมผลักดันผักพื้นบ้านให้มีความหลากหลายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านการกระจายในหลากหลายช่องทางตลาด
  • การสร้างความเสมอภาคด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ต่างๆ โดยให้รัฐเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนเสริมเครือข่ายฯ ในการแลกเปลี่ยนกันเรื่องตลาดเมล็ดพันธุ์คิดว่าเมล็ดพันธุ์เป็นตัวขับเคลื่อนได้ผ่านเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ซึ่งอาจเริ่มนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อม/มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเพื่อให้เกิดความหลากหลาย เนื่องด้วยอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

การรวมศูนย์บริหารจัดการของหน่วยงานรัฐ

            แผนพัฒนาฯ ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เป็นแผนพัฒนาฯ ที่อยู่บนกระดาษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วสวนทางกัน เนื่องด้วยแผนพัฒนาฯ ที่นำไปสู่ในพื้นที่นั้นเป็นกรอบสำเร็จรูปที่นำไปปฏิบัติใช้กับทุกพื้นที่ที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบทในพื้นที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่น โครงการโคกหนองนาโมเดล ที่พอมาถึงพื้นที่แล้วเจอข้อจำกัดที่หลากหมายและใช้ไม่ได้จริง หรือแม้แต่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 ที่ระบุคำว่าเกษตรอินทรีย์แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเกษตรกรที่เป็นรากหญ้าสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่รัฐสนับสนุนได้อย่างทั่วถึงจริงหรือไม่ เนื่องจากงบประมาณสนับสนุนที่ผ่านทางหน่วยงานภาครัฐนั้น เกษตรกรส่วนน้อยที่เข้าถึงการสนับสนุนด้วยกระบวนการเข้าร่วมนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากที่เกษตรกรต้องไปลงทะเบียนขึ้นบัญชีหรือจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนถึงจะได้รับการสนับสนุน รวมถึงเงื่อนไขการเข้าถึงโครงการที่ระบุว่าต้องมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ

            อีกประเด็นคือ การขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนในการร่วมออกเสียงแสดงความคิดเห็น และเสนอแผนที่จะต้องนำมาใช้กับชีวิตได้จริงนั้น แผนพัฒนาฯ ที่ผ่านมาไม่ได้เชื่อมโยงหรือปรับใช้ได้จริงในบริบทพื้นที่ ดังกรณีการเผาที่ถือเป็นวิธีการจัดการภูมิปัญญาที่สำคัญของพี่น้องชาติพันธุ์หรือเกษตรกรรายย่อยตามพื้นที่ชนบทที่จะมีระบบการจัดการภูมิปัญญาพื้นที่เกษตรด้วยตัวเอง แต่ว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้มีแผนที่ชัดเจนในการส่งเสริมศักยภาพให้กับพื้นที่นั้นอยู่ได้จริง ตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรยังคงมีความจำเป็นในการเผา รัฐก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้พื้นที่จัดการ แต่รัฐเข้ามาควบคุมโดยไม่ได้มองถึงรอบฤดูกาลผลิตของพื้นที่ เหมือนกับช่วงนี้ที่จะเลยช่วงฤดูกาลปลูกแล้ว แต่เกษตรกรก็ยังไม่สามารถเผาในพื้นที่การเกษตรของตัวเองได้ โดยในพื้นที่มองว่าถ้าหากมีระบบที่มีการจัดการร่วมกันในการจัดการไฟป่ากับไฟเกษตรได้อาจจะเป็นทางออกในการจัดการที่ชัดเจนที่สามารถแยกส่วนในการจัดการได้ ซึ่งในเครือข่ายฯ มีข้อเสนอดังนี้

  • เสนอให้มีการร่วมผลักดันแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนภาคประชาชน (เช่น แผนพัฒนาฯ ของพื้นที่สูง, แผนพัฒนาฯ ระดับจังหวัด) ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีกรอบการวางแผนพัฒนาฯ ภายใต้บริบทในแต่ละพื้นที่เป็นฐานว่ามีต้นทุนในเรื่องใดบ้าง ที่อาศัยหลักคิดจากฐานชุมชนสู่ระดับที่กว้างขึ้นไม่ใช่จากข้างบนลงข้างล่าง
  • การให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นในการกำหนดพื้นที่ตนเอง ซึ่งอาจจัดทำในระดับตำบลหรือลุ่มน้ำ ที่ต้องการขับเคลื่อนยกระดับพื้นที่เพื่อที่ก้าวข้ามเรื่องการจัดการผ่านหลากหลายองค์กร ซึ่งในการให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นนั้นอาจกำหนดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน, การกำหนดมาตรการป้องกันสารเคมีเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงการกำหนดจัดการเรื่องผลผลิตการตลาดเพื่อให้ชุมชนได้ค้นหาและพัฒนาตนเอง โดยอาจเริ่มเป็นพื้นที่ขนาดเล็กโดยให้ท้องถิ่นจัดการเหมือนกับเป็นเขตพื้นที่พิเศษในการนำร่องเพื่อที่จะขยายโมเดลให้กับชุมชนอื่นต่อไป

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ

ร่างกรอบแผนฯ 13 ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้ระบุถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร