โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

  • การกลับบ้านไม่ได้เหมือนที่จินตนาการไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ กว่าจะตั้งหลักได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
  • มะเขือเทศเป็นตัวจุดประกาย ปัจจุบันมีมะเขือเทศมากกว่า 50 สายพันธุ์ และเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเอง
  • ในรอบการผลิต 1 ปี ปลูกมะเขือเทศ 1 งาน สามารถสร้างมูลค่า (ราคา) เท่ากับที่ขายข้าวจากนาของแม่จำนวน 10 ไร่
  • มีความสุขเพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องให้คนในชุมชน/หมู่บ้านมีความสุขไปด้วยกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

จีรนันท์ บุญครอง หรือนันท์ เป็นเจ้าของตราสินค้า “พันธุ์เจีย”- Pangaea Organic Garden ที่ขายผลผลิตทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษ รวมทั้งเป็นเจ้าของสวนชื่อเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ สถานที่อันเป็นบ้านที่พ่อแม่อยู่อาศัยและตัวเธอได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กจนเติบโตขึ้นมา

นันท์เคยจากบ้านมาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงเพื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัย ด้วยความตั้งใจอยากออกมาอยู่ไกลบ้านและสัมผัสชีวิตสังคมเมือง แต่แล้วด้วยวิชาที่เรียน คือเศรษฐศาสตร์การเกษตร กลับทำให้เธอรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงกับอาชีพของพ่อแม่ จนต้องออกแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็ได้ค้นพบตนเองว่าไม่ได้ปรารถนาวิถีชีวิตแบบเมือง และเมืองหลวงไม่ใช่ที่ทางของตน จึงมีความตั้งใจกลับบ้านมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

ความรู้สึกอยากกลับบ้านยิ่งแรงกล้า เมื่อนันท์เรียนจบและได้ไปฝึกงานที่ไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย ทำให้เห็นต้นแบบและแนวทางบางอย่าง ตลอดจนเป็นแหล่งที่ให้ประสบการณ์เธอกลับมาปรับใช้ ทั้งยังได้เมล็ดพันธุ์กลับมาปลูกที่บ้านด้วย

การเดินทางกลับบ้าน กว่าจะตั้งหลักได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ค่อย ๆ มาขยับ ดูพื้นที่ เมื่อทำคนเดียวไม่ได้ก็ต้องไปเรียนรู้กับคนอื่น ผู้ที่มีความรู้ และกลับมาลงมือทำ เมื่อลงมือทำแล้วจะรู้ เห็นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่พ่อแม่ทำเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากมาก ต้องลองหาสิ่งใหม่ ๆ เกษตรแบบใหม่ ๆ จนกลายเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่สร้างรายได้ และสร้างความสุขให้ตนเองได้

“และที่สำคัญเราจะมีความสุขเพียงแต่ตัวเราคนเดียวไม่ได้ เราต้องแบ่งปันความสุขให้กับเพื่อน ๆ ในชุมชนเราด้วย รวยทั้งความสุข รวยทั้งรายได้ เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยากหันกลับมาทำเกษตร เพราะอาชีพเกษตรก็สามารถตอบโจทย์ความสุขและความมั่นคงได้เช่นเดียวกัน

เมื่อแรกกลับบ้านในปี 2562 นันท์เริ่มด้วยการปลูกผักและทำร้านค้าผักปลอดสารพิษทางออนไลน์ในชื่อ “พันธุ์เจีย” ซึ่งมีความหมายว่า “พันธุ์ดี” เพราะ “เจีย” ในภาษาเขมรแปลว่าดี

“ปัญหาเดิมที่เคยจำได้ตอนเด็ก ๆ คือ ราคาผลผลิตตกต่ำ ข้าวที่พ่อแม่ปลูกไม่เคยกำหนดราคาเองได้เลย ไม่เคยรู้เลยว่าแม่ค้าของเราเป็นใคร จึงลองขายข้าวของแม่ ปีแรกขายหมดยุ้ง สามารถกำหนดราคาเองได้ ราคาดี มีกำไร เป็นปีแรกที่แม่รู้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร เป็นปีแรกที่เราขายตรงให้กับผู้บริโภค

“ที่ผ่านมาแม่ไม่เคยรู้เลยว่าขายข้าวให้โรงสีแล้วลูกค้ากินข้าวจะรู้สึกอย่างไร ครั้งนี้ลูกค้า feed back กลับมาว่าข้าวอร่อยมาก เพราะข้าวสาร/ข้าวเปลือกของเราเขานำไปทำเป็น final product เช่น คิมบับ อาหารเมนูต่าง ๆ ทำให้เราเห็นคุณค่าของเกษตรกร/อาชีพเกษตรกรมากขึ้น จากตอนแรกเราคิดว่าเป็นอาชีพที่ลำบากและจน ไม่ค่อยมีความหวัง” นันท์เล่าถึงงานการแรก ๆ ที่เธอทำหลังกลับมาบ้านและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

ผลจากการเปิดร้านค้าออนไลน์ยังทำให้พบว่า ผักอินทรีย์สามารถขายได้ราคาสูงกว่าที่คนในชุมชนขาย รวมทั้งยังพบว่าตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทนี้อย่างมากด้วย นันท์จึงเริ่มขยายความคิดเรื่องการต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มเติมให้แก่ตนเองและคนในชุมชน มีการจัดทำหลักสูตรและจัดการอบรม ทำเป็นโครงการอยู่ช่วงหนึ่ง

ส่วนการพัฒนาฟาร์มหรือสวนของเธอเอง เธอเก็บเงินจากการขายผักมาทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากช่วงแรกที่ปลูกผักประเภทสลัด ต่อมาเริ่มสนใจมะเขือเทศ และสนใจจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ หลังทำได้ 2 ปีก็เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ ในช่วงต้นเก็บไว้ใช้เพาะปลูกเอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนได้ แต่ต่อมาก็เริ่มขาย จนสร้างรายได้ให้อย่างจริงจัง

เจ้าตัวเล่าถึงเส้นทางเหล่านี้ไว้ว่า “หลังจากเรื่องข้าว เราก็ยังทดลองทำไปเรื่อย ๆ ที่มากกว่าเรื่องข้าว เพราะเรามีเพื่อนทำ มีที่ปรึกษา เช่น ทดลองปลูกผักชนิดต่าง ๆ ผักที่ชื่อหรือหน้าตาแปลก ๆ บ้าง จนกระทั่งเรามาเจอมะเขือเทศ

“มะเขือเทศเป็นอีกผลผลิตหนึ่งที่จุดประกายเรา เพราะจากการทำเกษตรที่จำเจ ทำเหมือนเดิมทุกปีจากที่พ่อแม่เคยทำ เราได้เจอผลผลิตใหม่ ๆ มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ ๆ ได้เจอ texture ใหม่ ๆ ได้เจอรสชาติใหม่ ๆ ได้ทำคอนเทนต์ควบคู่กันไปด้วย กลายเป็นว่าผู้บริโภคที่ติดตามเราสนุกกับเราไปด้วย รอติดตามซื้อผลผลิตเรา เราไม่ต้องแข่งขันกับใครเลย เพราะว่าไม่มีใครมีมะเขือเทศเหมือนกับเรา

“จากลูกค้าในออนไลน์ ต่อมา เชฟมิชลินสตาร์ อินฟูลเอนเซอร์ ก็เริ่มสนใจผลผลิตของเรา

“จากแค่ขายผล เราก็เก็บเมล็ดพันธุ์ของมะเขือเทศด้วย ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราจะได้มีโอกาสได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเอง เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศเอง ในวันนั้นเราได้เข้าใจถึงความมั่นคง

“ตอนนั้นนอกจากรายได้จากการขายผลผลิต เรายังได้รายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ด้วย มะเขือเทศที่เราปลูกระยะเวลา 1 ปี เราใช้พื้นที่เพียง 1 งานเท่านั้น แต่เราสามารถขายผล ขายเมล็ดพันธุ์ สร้างรายได้เท่ากับแม่เราปลูกข้าว 10 ไร่ ตอนนั้นเริ่มมีความหวัง เริ่มสนุก”

ความสนุกทำให้นันท์เริ่มคิดว่า ในเมื่อสนุกขนาดนี้ก็ทำคนเดียวไม่ได้แล้ว จึงไปชวนคนในชุมชนมาทำด้วย โดยวิธีดำเนินการคือทำให้ชุมชนมีความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ และทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ นันท์มีแนวคิดชัดเจนว่าถือเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ผู้ผลิตควรเป็นเจ้าของ ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่เธอขายทั้งหมดจึงเป็นเมล็ดพันธุ์ผสมเปิด (Open Pollinated Variety Seeds) ที่สามารถเก็บและปลูกต่อได้

“เราอยากส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่ดีของเราให้กับผู้อื่น และเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยให้สิ่งแวดล้อมของเราดีได้ด้วย” นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่นันท์แถลงไว้ในเฟซบุ๊กที่ชื่อ “พันธุ์เจีย – Pangaea Organic Garden” ของเธอ

ในวัยหย่อน 30 ปีเล็กน้อย ณ วันนี้ จีรนันท์เป็นทั้งนักปลูกและนักขายคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเริ่มเป็นนักแปรรูปอาหาร ที่สำคัญคือเป็นเจ้าของพันธุ์มะเขือเทศมากถึงประมาณ 50 สายพันธุ์ มีอาชีพที่ถือได้ว่ามั่นคง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งยังกลายเป็นผู้ที่สมาชิกร่วมชุมชนให้ความเชื่อถือและเดินตาม ทั้ง ๆ ที่เมื่อแรกกลับบ้าน เธอเคยถูกมองว่าเป็นเพราะล้มเหลวมาจากในเมืองหรือไม่

“การกลับมาอยู่บ้านไม่สามารถการันตีได้ว่าคุณจะมาเจอสิ่งที่จินตนาการไว้อย่างไร มันจะเป็นอย่างที่เคยคิดไว้หรือไม่ เพราะบางอย่างเกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนที่จินตนาการไว้ทั้งหมด แต่แค่อยากให้สนุกกับการทดลอง สนุกกับสิ่งใหม่ ๆ และนำไป appreciate กับสิ่งใหม่ ๆ เวลาเจอกับสิ่งที่ใช่ อยู่กับสิ่งนั้นให้ได้นานที่สุด และรู้สึกมั่นคงกับมันให้ได้นานที่สุด” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของนันท์ในงานมหกรรมพันธุกรรม 2568 ที่นันท์ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรคนหนึ่งในช่วง TED TALK ความสุขของคนรุ่นใหม่กับการเกษตร

รับฟังเนื้อหาช่วง TED TALK ของงานมหกรรมพันธุกรรม 2568 ได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1BtRhDJ2Px/

บทความแนะนำ