ความเปราะบางของเกษตรกร
ภาพรวมความเปราะบางในการพึ่งพิงในนอกภาคการเกษตรอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลงได้ หากมองถึงสัดส่วนแรงงานที่มีการพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตร ซึ่งรวมถึงการรับจ้างในและนอกภาคการเกษตร รวมถึงรายได้จากทำธุรกิจอื่น พบว่ามีจำนวนถึง 9.6 ล้านครัวเรือน และ 72% ของตัวเลขดังกล่าวเป็นแรงงานของครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งกลุ่มอาชีพที่แรงงานมีการพึ่งพิงรายได้มากที่สุดคือเป็นการทำงานเป็นแรงงานรับจ้างนอกภาคการเกษตรถึง 80% ที่ถือว่าเปราะบางต่อวิกฤติในช่วงนี้ 45% ของแรงงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 46-60 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มแรงงานอายุน้อยกว่า 45% อยู่ถึงเกือบ 30% ที่เป็นแรงงานในภาคการเกษตรที่ทำงานนอกภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากมีหนี้สูง (โดยอิงข้อมูลสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.) เฉพาะข้อมูลชาวนา 4.5 ล้านรายทั่วประเทศ ในปี 2561 พบว่า 50% มีหนี้มากกว่า 200,000 บาท และมีหนี้มากกว่า 400,000 บาท อยู่ถึง 30% ครัวเรือนเกษตรกรที่มีหนี้สูงส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ที่สำคัญคือครัวเรือนเกษตรกรเกินครึ่ง (ประมาณ 54%) อยู่ในโครงการพักหนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางว่า ถ้าเกิดมีปัญหาจากโควิดก็อาจจะได้รับผลกระทบมาก หากดูข้อมูลการเป็นหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรจากทุกสถาบันทั้งในและนอกระบบ จะพบว่า 1 ครัวเรือนเกษตรกรจะมีหนี้อยู่ 3-4 แหล่ง ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 400,000 กว่าบาท 30% มีหนี้มากกว่า 600,000 บาท ที่น่าสนใจคือการออมของครัวเรือนมีความแตกต่างกันมาก คือ 30% ของครัวเรือนเกษตรกรมีการออมไม่ถึง 10,000 บาทแต่ก็มีอีก 30% ที่มีเงินออมกว่า 100,000 บาท ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนภาคการเกษตรจะมองเป็นตัวแทนครัวเรือนเดียวนั้นไม่ได้เพราะว่ามีความแตกต่างกันมาก
ดังที่ได้กล่าวข้างต้น 30% ของแรงงานในครัวเรือนเกษตรกรทำงานในภาคการเกษตร และส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างทำงานชั่วคราวนอกภาคการเกษตรในหลายภาคส่วนนั้น ส่วนใหญ่เป็นงานด้านบริการที่พบว่าเป็นแรงงานนอกระบบ และได้รับการประกันสังคมจากนายจ้างเพียง 20% และประมาณ 10% เป็นการประกันสังคมแบบประกันตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสั่นคลอนด้านสวัสดิการจากรัฐในวิกฤติช่วงนี้มากเช่นกัน
ความหลากหลายของเกษตรกร
ผลกระทบนั้นมีความแตกต่างกันมากจากความหลากหลายของเกษตรกร ที่เป็นเกษตรกรรายเล็กไปถึงรายใหญ่ เป็นเกษตรกรที่มีภาระหนี้น้อยไปหามาก เป็นเกษตรกรที่มีรายได้จากน้อยไปมาก ซึ่งผลกระทบโดยรวมต่อครัวเรือนเกษตรกร พบว่า รายได้จากนอกภาคการเกษตรสำคัญต่อเกษตรกรรายเล็กมากกว่ารายใหญ่ จากวิกฤติโควิดได้กระทบรายได้หลักของเกษตรกรกลุ่มนี้มากกว่าเกษตรกรรายใหญ่ รวมถึงการลดลงของความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงมากในกลุ่มเล็ก โดยเฉพาะคนที่จนสุดใน 10% มีรายได้ที่ลดลงถึง 80% แล้วก็ 90% ของคนกลุ่มนี้ก็มีปัญหาในการชำระหนี้ “ความแตกต่างของผลกระทบจากความหลากหลายของเกษตรกรดังกล่าว จะต้องมีการวิเคราะห์เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นซึ่งมีนัยยะสำคัญเชิงนโยบายว่านโยบายจะต้องมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มด้วยไม่ใช่ว่ามาตรการทางนโยบายเป็นการปูพรมให้กับครัวเรือนเกษตรทุกครัวเรือน”
สำหรับการรับมือของครัวเรือนเกษตรกร พบว่า 70% รับมือโดยการใช้เงินออมของตัวเอง 55% รับมือโดยการช่วยเหลือกันในชุมชน และประมาณ 10% รับมือโดยอาศัยการกู้เงิน การรับมือมีความแตกต่างกันในรายครัวเรือน คือ เกษตรกรรายเล็กมีข้อจำกัดในการรับมือ โดยเฉพาะความสามารถในการใช้เงินออมของรายเล็กจะต่ำกว่ารายใหญ่ ถ้ามาตรการเยียวยาจากภาครัฐไม่ตรงกับกลุ่มจริง วิกฤตในครั้งนี้ก็จะส่งผลระยะยาวให้กับกลุ่มคนที่จนอยู่แล้ว
หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องยืดเยื้อไปอีก ถามว่าจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนอย่างไร? จากงานวิจัยพบว่า ถ้ายืดไปอีก 1 เดือนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่างกับปัจจุบันมากนัก แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึง 3 เดือน คาดว่าจะมีครัวเรือนเกษตรกรกว่า 80% ที่มีรายได้ไม่เพียงพออย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วกว่า 80% คาดว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และที่สำคัญที่สุด ครัวเรือนเกษตรกรเกินครึ่งคิดว่าหากยืดเยื้อไปนานอาจจะต้องพึ่งพิงการกู้ยืม ไม่ว่าทั้งในหรือนอกระบบ ซึ่งมีนัยยะตรงที่ว่าการช่วยเหลือไม่รวดเร็วพอ ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบในระยะยาวได้
นัยยะสำคัญเชิงนโยบาย
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ถือว่าควรทำเป็นอันดับแรกคือ นโยบายที่ต้องเยียวยาครัวเรือนเกษตรกรจะต้องรวดเร็ว และเพียงพอ และที่สำคัญคือจะต้องมุ่งเป้าไปที่ครัวเรือนเกษตรกรที่เปราะบาง แต่ถ้าหากมองถึงทิศทางนโยบายในช่วงต่อไปนั้นควรให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้
- การสร้างระบบประกันสังคม (Safety Net) ให้กับกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งภาพรวมคือการสร้างระบบประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ
- การสนับสนุนครัวเรือนเกษตรกรให้มีการปรับตัวด้านการผลิตและการตลาด ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
- การแก้ไขข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างภาคเกษตร ในเรื่องของที่ดิน น้ำ เทคโนโลยี ข้อมูล โลจิสติก และปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพื่อดึงดูดแรงงานภาคการเกษตรที่พร้อมทำงานอยู่สัดส่วนค่อนข้างมาก และมีอายุน้อย ให้กลับมาพัฒนาพื้นถิ่นหรือพัฒนาภาคการเกษตรมากขึ้น
อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563