โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

      ตอน 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13: “รูปแบบการผลิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ดร.ประวีณ จุณภักดี ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
      กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ถือเป็นกรอบที่อ้างอิงจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ส่วนการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อจัดทำกรอบแผนพัฒนาฯ นั้นก็ยังไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนทราบว่าหนี้สาธารณะ หนี้สินภาคครัวเรือนมีอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดินทำกินของเกษตรกรกำลังจะหลุดจากมือหากสถานการณ์ยังคงดำเนินอยู่ถือเป็นวิกฤตอย่างมาก ดังนั้นการวิเคราะห์ของสภาพัฒน์โดยเอาจีดีพีเป็นเครื่องมือนั้นอาจใช้ไม่ได้ผลเนื่องจากวิถีการผลิตของพื้นที่แต่ละภูมินิเวศวัฒนธรรมนั้นต่างกัน โดยทางเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคใต้ได้นำเสนอประเด็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ที่ควรนำพิจารณาร่วม ดังต่อไปนี้

คำนิยามเกษตรกรรมยั่งยืน

      ”กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 นั้นได้อ้างอิงถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุถึงรูปแบบเกษตรใน 5 รูปแบบ คือ เกษตรอัตลักษณ์ เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ แต่ถามว่าการเกษตรเหล่านี้เหมือนจะตอบสนองต่อจีดีพีแต่ว่าไม่ได้ตอบสนองถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจภาคครัวเรือน” ซึ่งเป็นประเด็นที่ชวนตั้งคำถามว่า รูปแบบของการผลิตในเกษตรกรรมยั่งยืนหรือคำว่าเกษตรกรรมยั่งยืนที่ทางเครือข่ายฯ ได้ขับเคลื่อนมากว่า 20 ปี จนถึงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ที่อ้างอิงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น คำว่าเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นได้หายไป ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศที่แผนพัฒนาต่างๆ จะอ้างอิงตามตัวอักษรที่ระบุในแผนพัฒนาฯ เป็นหลัก ดังนั้นจึงขอเสนอให้เพิ่ม/ระบุคำว่าเกษตรกรรมยั่งยืนในกรอบแผนพัฒนาฯ ตามรูปแบบการจัดการเกษตรกรรมยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค หรือภูมินิเวศน์วัฒนธรรม

การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม

      กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ไม่ได้ระบุถึงการรักษาปัจจัยการผลิต เช่น การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคยังมีการประกอบอาชีพเกษตรมากกว่า 70-80% ซึ่งหากกรอบแผนพัฒนาฯ ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนก็อาจจะส่งผลให้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้หลุดมือจากเกษตรกรและสร้างความเหลื่อมล้ำในระบบการผลิต เนื่องจากระบบเกษตรนั้นครอบคลุมในด้านการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการเก็บหาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา แม่น้ำ ทะเล แต่ในกรอบแผนพัฒนาฯ ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ จึงมีข้อเสนอคือ ให้มีการทบทวนและเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในกรอบแผนพัฒนาฯ

การทำประมงที่ยั่งยืน

      ในกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ไม่ได้ระบุเรื่องวิถีประมงในประเด็นการจัดการประมงที่ยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ที่ทำอาชีพประมงเป็นหลัก ดังเช่นจังหวัดสุราษฎ์ธานีเพียงจังหวัดเดียวมีผู้คนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับผลผลิตทางการประมงโดยตรงถึง 100,000 กว่าราย จึงมีข้อเสนอ คือ อยากให้มีการระบุประเด็นการทำประมงในกรอบแผนพัฒนาฯ เพื่อสานต่ออาชีพประมงในพื้นที่ได้อย่างอย่างยั่งยืน

การคุ้มครองพันธุกรรมท้องถิ่น

      การคุ้มครองพันธุกรรมท้องถิ่นเป็นประเด็นที่สำคัญที่อยากให้มีการระบุที่ชัดเจนในกรอบแผนพัฒนาฯ เนื่องด้วยบริบทของไทยมีความเฉพาะของภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมการผลิตที่ต่างกัน แต่ทุกวันนี้เกษตรกรกลับต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์ จากร้านค้า/บริษัท ทำให้ไม่มีความยั่งยืนในระบบการผลิตของตนเอง

การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น

      การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้นยังไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรที่มีแนวคิด แนวทาง และมีรูปแบบที่หลากหลายในการพึ่งตนเอง ดังนั้นมุมมองเรื่องการกระจายอำนาจนั้นต้องมีการกระจายอำนาจไปถึงกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงนโยบายรัฐ และเข้าถึงปัจจัยการผลิตในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้

การยกระดับเป็นผู้ประกอบการ

      จากสถานการณ์โควิดทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจกลับไปอยูบ้านโดยเลือกอาชีพเกษตร ซึ่งรวมถึงการสร้างรายได้จากการเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติ ประมง แต่จะทำอย่างไรให้วิถีการผลิต/ดำรงชีวิตของคนในพื้นที่สามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ตั้งแต่ที่ดิน องค์ความรู้/ภูมิปัญญา เมล็ดพันธุ์ แหล่งน้ำ รวมถึงระบบตลาดที่สามารถพึ่งตนเอง

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.