โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ในที่สุดก็เวียนมาถึงการจัดกิจกรรมเป็นครั้งที่ 4 ของชุมชนเมืองมหาสารคาม ซึ่งเข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง กับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมอบรมการทำเกษตรในเมือง หรือการปลูกผักภายในบ้านและชุมชนกันไปแล้วเป็นจำนวน 3 ครั้ง ณ ชุมชน 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนเครือวัลย์ 2 ชุมชนตักสิลา 1 และชุมชนบ้านแมด

ในครั้งนี้ ตามแผนเดิมกำหนดจะจัดกิจกรรมอบรมเช่นเดียวกัน โดยเปลี่ยนสถานที่จัดเป็นที่สวนดินแลไม้ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองแห่งที่ 4 ของจังหวัดมหาสารคาม แต่แล้วกิจกรรมที่สวนดินแลไม้ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมสรุปบทเรียนกิจกรรมอบรมที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งตามแผนงานเดิมนั้นได้ตั้งเป้าไว้ว่าเป็นการอบรมคณะทำงานจาก 4 ชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมือง

ณ สวนดินแลไม้ เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา คณะทำงานประจำศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองทั้ง 4 แห่ง ที่ผ่านการอบรมมาด้วยกันรวม 3 ครั้ง จึงได้มาร่วมกันสรุปบทเรียน โดยที่มีชุมชนโพธิศรี ชุมชนเมืองแห่งใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมเครือข่ายสวนผักคนเมืองของชุมชนเมืองมหาสารคาม เข้าร่วมการประชุมด้วย

ข้อสรุปที่ได้สำหรับกิจกรรมอบรมครั้งแรกที่จัดขึ้นที่ชุมชนเครือวัลย์ 2 พบว่า เรื่องที่ทีมวิทยากรทำได้ดีคือการถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติมคือความรู้จากการปฏิบัติ เป็นความรู้เฉพาะเรื่อง เฉพาะพืชที่ตนเองถนัด และมีความชัดเจน ไม่ควรเน้นความรู้ที่จดจำมาจากสื่อออนไลน์ เช่น YouTube ซึ่งมีผลทำให้ความรู้ไม่แน่นพอที่จะถ่ายทอดหรือตอบคำถามผู้เข้าร่วมอบรม นอกจากนั้นทีมวิทยากรควรแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนเนื้อหา ไม่ควรจำกัดที่ประธานชุมชนเป็นหลัก

สำหรับเรื่องที่ต้องทำเพิ่มเติมภายในศูนย์ฯ คือ การยกแปลงปลูกผักลอยสูงเพื่อแก้ไขปัญหาดินอมน้ำ การผลิตดินปลูกเพิ่มขึ้น รวมทั้งสารชีวภัณฑ์ป้องกันศัตรูพืช เช่น จุลินทรีย์จาวปลวกน้ำหมักปลา และควรมีการจัดเวรประจำเพิ่ม เพื่อให้กรรมการศูนย์ฯ ดูแลส่วนของการผลิตและการเก็บผลผลิตไปขาย และดูแลเรื่องอื่น ๆ เช่น ใบความรู้ (หมายถึงเอกสารลักษณะแผ่นพับที่ให้ความรู้เฉพาะเรื่องต่าง ๆ) และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

ส่วนของชุมชนตักสิลา 1 มีข้อสรุปว่า เรื่องที่ทำได้ดีคือการที่สามารถนำความรู้เรื่องการปลูกผักในพื้นที่จำกัดอย่างการปลูกผักแนวตั้ง การปลูกผัก 2 ชั้น และการปลูกผักกระถาง มาปรับใช้ตามสภาพชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด ส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ ความแม่นยำด้านเนื้อหาของวิทยากร ซึ่งวิทยากรต้องเป็นผู้ที่ปลูกผักจริง หรือควรลงมือปลูกผักเพื่อให้เกิดความรู้ ความมั่นใจ จนสามารถที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนได้ นอกจากนั้น ทางศูนย์ฯ ควรจัดหางบประมาณเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ สำหรับปรับปรุงแปลงสาธิตให้เกิดเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ ข้อสรุปในส่วนชุมชนบ้านแมด ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง จังหวัดมหาสารคาม ชัยสิทธิ์ แนวน้อย บอกเล่าว่า เรื่องที่ทำได้ดีคือการทำหน้าที่วิทยากรหลักของ พุธ บุญหล้า รองประธานชุมชนบ้านแมด ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องน้ำหมักชีวภาพ การปลูกและดูแลผักบนโต๊ะปลูก ส่วนสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ การฝึกทีมงานเพื่อเป็นวิทยากรเพิ่มขึ้น การถ่ายทอดความรู้ของวิทยากร ควรเรียงลำดับเนื้อหาและสรุปให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้อย่างชัดเจน เช่น การทำน้ำหมักแต่ละชนิด วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ วิธีการทำ ประโยชน์และการนำไปใช้ประโยชน์จากน้ำหมัก ข้อพึงระวังในการใช้ ข้อดีและข้อเสียของการทำและใช้น้ำหมัก เป็นต้น

สำหรับเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำเพิ่มเติม ได้แก่ ใบความรู้ สื่อและอุปกรณ์ประกอบการถ่ายทอดที่เป็นกิจจะลักษณะ การจัดสถานที่ให้เอื้อต่อการสร้างการเรียนรู้ การนำเสนอในแต่ละส่วนอย่างเป็นระบบ และการจัดหางบประมาณสำหรับพัฒนาศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายพื้นที่โต๊ะปลูก การสร้างแปลงการผลิตแบบหลากหลาย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

ทางด้านชุมชนโพธิ์ศรี 1 ซึ่งยังไม่ได้มีการจัดอบรมฝึกเป็นวิทยากร ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง จังหวัดมหาสารคามกล่าวว่า ประเมินศักยภาพของทีมงานปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 15 คน ซึ่งเป็นกรรมการชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นั้น เนื่องจากไม่มีประสบการณ์และความรู้ทางด้านการเกษตร ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผัก จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือผู้รู้มาให้ความรู้ รวมทั้งสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการอบรม และงบประมาณสำหรับปรับปรุงพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองต่อไป

ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้สำหรับวิทยากรที่ผ่านการอบรมแล้ว ทุกคนจะทำหน้าที่วิทยากรประจำศูนย์ฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกชุมชน ชุมชนละ 10-20 คน ซึ่งได้กำหนดแล้วว่าจะจัดอบรมวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ที่ชุมชนโพธิ์ศรี 1 / วันที่ 21 ธันวาคม ที่ชุมชนเครือวัลย์ 2 / วันที่ 23 ธันวาคม ที่ชุมชนตักสิลา 1 ส่วนชุมชนบ้านแมด กำหนดไว้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า เช่นเดียวกับที่สวนดินแลไม้ กำหนดจัดอบรมภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ทั้งนี้ สวนดินแลไม้มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ สถานที่ปกคลุมไปด้วยต้นยางนาและต้นไผ่ประมาณ 1 ไร่ ต้นมะม่วงสำหรับรอเสียบยอดที่รวมแปลงปลูกหญ้าไปในตัวอีกราวไร่ครึ่ง ส่วนพื้นที่บริเวณหลังสวนอีกประมาณไร่ครึ่งถูกกันไว้สำหรับปลูกผัก ทั้งลักษณะที่ปลูกลงดินและเป็นโต๊ะปลูก เจ้าของและและผู้เป็นวิทยากรหลักประจำศูนย์ฯ แห่งนี้ก็คือชัยสิทธิ์ แนวน้อย นั่นเอง

ในการจัดกิจกรรมการประชุมครั้งนี้ ชัยสิทธิ์ยังได้ให้ผู้เข้าประชุมร่วมกันปลูกต้นหอมกับต้นคึ่นช่ายแซมกับพืชหลักที่ปลูกไว้ก่อนแล้วบนโต๊ะปลูก จำนวน 2 แปลง คือ สลัดกรีนโอ๊ค และเรดโอ๊ค โดยสลับการปลูกให้อยู่ในแถวเดียวกัน เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับพรวนดินระหว่างแถว และการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยขี้ไก่ ระหว่างแถวได้ รวมทั้งสาธิตวิธีการติดตั้งโต๊ะปลูกที่ทำเสาจากอิฐบล็อกให้สมาชิกได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมือง จังหวัดมหาสารคาม เผยถึงแผนการดำเนินงานของชุมชนเมืองมหาสารคามในระยะต่อไปด้วยว่า จะบูรณาการงานสวนผักคนเมืองร่วมกับงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การสร้างแผนพัฒนาอาชีพของตนเองสำหรับกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาศูนย์เรียนรู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในชุมชน การจัดการเรียนรู้ศึกษาดูงานกับศูนย์เรียนรู้บ้านหนองจอก และการสร้างศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองในจังหวัดมหาสารคาม ที่จะทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กับสวนผักคนเมือง

บทความแนะนำ