ตอนที่ 16 ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร โดย ดร.อัศมน ลิ่มสุกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
หลายคนคงทราบกันดีว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาจากสาเหตุใด ซึ่งที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในเรื่องของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
ระดับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับสภาวะสุดขั้วซึ่งเป็นเรื่องของพายุ เรื่องของภัยแล้งที่เผชิญกันอยู่ รวมถึงปรากกฎการณ์ฝนตกหนักหรือคลื่นความร้อนต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากภาวะสุดขั้วของลม ฟ้า อากาศ แม้ที่ผ่านมาอาจไม่ได้มีการพูดกันในเรื่องนี้มากนัก แต่เป็นเหตุที่มีจุดเริ่มต้นได้อย่างช้าๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่แม้ว่าแต่ละปีมีการเพิ่มขึ้นในระดับมิลลิเมตรแต่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุด สภาวะสุดขั้วมีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น แต่ว่าการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ นั้นก็จะเกิดการสะสมไปสู่ในระยะยาวและอาจทำให้เกิดความสูญเสีย และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ถาวรไม่สามารถกลับสู่สภาวะเดิมได้ ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาวะสุดขั้วในเรื่องน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง การรุกของน้ำเค็ม หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่สังเกตได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดในเรื่องของอุณหภูมิในประเทศไทย ที่พบว่าอุณหภูมิในรอบ 40 ปีที่ผ่านนั้นเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคตประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งขึ้นกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกว่าเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมินั้นมีผลต่อสภาวะสุดขั้วของอุณหภูมิเช่นกัน อย่างเช่นจำนวนวันและคืนที่อากาศหนาวจะลดลง แต่จำนวนวันที่อากาศร้อนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสรุปได้เบื้องต้นว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในประเทศไทยที่มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนที่มีความแปรปรวน ความถี่ของพายุที่เปลี่ยนไปนั้น สุดท้ายจะนำไปสู่เรื่องภัยพิบัติในเรื่องของน้ำท่วมกับภัยแล้ง
ภาวะน้ำท่วมกับภัยแล้ง
ข้อมูลการเกิดอุทกภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงรอบ 7 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ หากมองข้อมูลย้อนไปอีกก็จะพบว่าการเกิดอุทกภัยมีแนวโน้มที่จะขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดในปี 54 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่วนข้อมูลเรื่องภัยแล้งก็จะเห็นว่าพื้นที่การเกิดภัยแล้งได้ขยายพื้นที่กว้างขึ้น และมีแนวโน้มที่ประสบกับน้ำแล้งก็จะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลการทำงานของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการจัดการเรื่องภัยแล้งนั้น กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาจัดทำแผนที่ดัชนีภัยแล้งของประเทศไทยในอนาคต เพื่อจะได้ดูว่าพื้นที่ภัยแล้งอยู่ตรงไหน และคาดว่าหากจัดทำเสร็จแล้วข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในการวางแผนบริหารจัดการแปลงการผลิต
ระบบเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นอาจมองได้ 3 มิติ มิติแรกคือคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 17-20% เป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน มิติที่สองคือภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงของช่วงการเกิดฝน และมิติที่สามคือระบบเกษตรมีศักยภาพในการลดภาวะเรือนกระจกและการปรับตัว ในส่วนผลกระทบต่อภาคการเกษตรนั้นมีความซับซ้อนในระบบเองค่อนข้างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวข้องกับช่วงการเกิดฝนที่มีความสัมพันธ์กับระบบเกษตรทั้งการปลูกพืช สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ป่าไม้ รวมถึงความยากต่อการคาดเดากับสภาพภูมิอากาศที่ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ดังกรณีการเกิดพายุฤดูร้อนในภาคตะวันออกที่มักจะเข้ามาช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มการเก็บเกี่ยว
ลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร
จากตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับยางพาราทางภาคใต้ซึ่งเป็นงานศึกษาของศูนย์วิจัยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผลการศึกษาพบว่าการเกิดน้ำท่วมนั้นมีผลกระทบต่อสรีระยางยางพาราค่อนข้างมาก เช่น การเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งทำให้การผลัดใบของยางพาราเปลี่ยนไป การเกิดโรคระบาด คุณภาพของยางเปลี่ยนไป เป็นต้น หากมองถึงการเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งนั้นในช่วงหลังพบว่าเกิดขึ้นทุกปี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินั้นแน่นอนว่าส่งผลตรงกับผลผลิตทางการเกษตรในลักษณะที่หลากหลาย เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการผสมเกสร การสังเคราะห์แสง และคุณภาพของข้าว รวมถึงงานศึกษาเรื่องอ้อยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้มีการจำลองการปลูกอ้อยภายใต้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ต่ำและสูง ที่ผลการศึกษาพบว่าการปลูกอ้อยจะลดลงในอนาคตประมาณ 30 ปีข้างหน้า
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายคนอาจคุ้นคำว่าเอนโซ่ (ENSO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศโลก ที่เมื่อกระแสลมเกิดการเปลี่ยนทิศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เกิดปรากฎการณ์สภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลันที่เรียกว่า เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ส่วนลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดฝนมากขึ้น จากการศึกษาล่าสุดของศูนย์วิจัยและศูนย์ฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปรากฏการณ์เอนโซ่มีผลกระทบต่อผลผลิตของข้าว โดยเฉพาะผลกระทบจากปรากฏการณ์เอ็นโซ่ที่กระทบข้าวมากที่สุดคือเอลนีโญ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าการบริหารจัดการภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องมีการเตรียมแผนการเพาะปลูกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ลักษณะการปรับตัว
“ภาคการเกษตรไม่ใช่เป็นภาคส่วนเดี่ยว แต่ค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกับการจัดการน้ำ การตั้งถิ่นฐานชุมชนในชนบท การดำรงชีวิตอยู่ของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบหมด” และในอนาคตคาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง ทั้งปริมาณก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิของโลกรวมถึงประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญของภาคการเกษตรคือ ต้องมีการปรับตัว แต่จะปรับอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับบริบทและระบบการทำเกษตรที่ทำอยู่ในแต่ละพื้นที่
หากภาคการเกษตรสามารถปรับตัวเพื่อรับมือสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแง่ของปริมาณ คุณภาพ เรื่องเกษตรที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคได้ก็จะเป็นโอกาสให้กับภาคเกษตร ที่เชื่อว่าหลังวิกฤติโควิดทั้งโลกคงมีการปรับเปลี่ยน แล้วความมั่นคงทางด้านอาหารน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องพูดคุยเรื่องนี้มากที่สุด
อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เกษตรกรรมกับการเปลี่ยน ปรับ รับมือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563