ตอนที่ 27 สถานการณ์การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน: การตลาดและข้อกฎหมายในระดับพื้นที่
จากประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่พื้นบ้านมา 20-25 ปีของคุณอรุณ หวายคำ เกษตรกรบ้านป่าก่อดำ อ.ลาว จ.เชียงราย ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมสัตว์: ความหลากหลายเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนได้น่าสนใจในเรื่องการตลาดและข้อกฎหมายในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายไก่พื้นบ้าน ดังนี้
ตลาดไก่พื้นบ้าน
คุณอรุณเลือกเลี้ยงไก่พื้นบ้านโดยเน้นการเลี้ยงไก่ชนด้วยเหตุผลที่ว่า “ไก่ชน หรือ ชนไก่ มันเป็นคุณค่าที่จะทำให้การเลี้ยงไก่นั้นให้คู่กับสังคมไทย” การเลี้ยงไก่ชนเป็นเรื่องทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของการเลี้ยงไก่ที่ผู้เลี้ยงจะมีเทคนิคการเลี้ยงเฉพาะแตกต่างกันเพื่อให้ได้ไก่ที่มีคุณภาพ แข็งแรง ส่วนการเลี้ยงไก่ชนให้ดีนั้นต้องมีเรื่องศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลี้ยง ตั้งแต่การดูลักษณะของเดือยไก่ โครงสร้างไก่ชน เช่น ลักษณะเหนียง ตา ขน คอ รวมถึงความสามารถที่จะเป็นไก่เก่งด้วย ที่ต้องใช้ศิลปะค่อนข้างมากในการคัดพันธุ์ไก่เพื่อทำการผสมพันธุ์ ไก่ที่เลี้ยงปัจจุบันเป็นไก่ที่เพาะพันธุ์เองมีประมาณ 200 กว่าตัว และเริ่มจับขายเมื่อไก่อายุ 4 เดือน โดยไก่ตัวเมียและไก่ตัวผู้ที่มีลักษณะไม่ดีก็จะจับแยกไปขายเป็นไก่เนื้อพื้นบ้านในตลาดและขายเฉลี่ยที่ 100 บาท/กิโลกรัม ส่วนไก่ชนจะขายที่อายุ 8-10 เดือน และยังไม่เคยไปชนในบ่อนอาจขายได้ประมาณ 2,000-5,000 บาท แต่ถ้าเป็นไก่ที่เคยไปชนในบ่อนแล้วชนะคู่ต่อสู้จะขายได้หลักหมื่น แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ตลาดซื้อขายไก่โดยเฉพาะไก่ชนช่วงนี้หยุดไป ส่วนไก่ที่แยกขายเป็นไก่เนื้อพอจำหน่ายได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาตลาดไก่เนื้อส่วนใหญ่เป็นพ่อค้ารายย่อยในชุมชน แต่ปัจจุบันผู้ที่จำหน่ายไก่เนื้อเป็นรายใหญ่เพียง 1-2 ราย อันเนื่องจากข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดวิธีการ เงื่อนไขการเคลื่อนย้ายสัตว์และการฆ่าสัตว์ที่ทำให้พ่อค้ารายย่อยหายไปจากระบบการตลาด
ข้อจำกัดทางข้อกฎหมาย
จากข้อกฎหมายที่กล่าวดังข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อพ่อค้ารายย่อยที่หาซื้อไก่เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัวนั้น พบว่าหลังการประกาศใช้กฎหมายทำให้พ่อค้ารายย่อยตามหมู่บ้านที่นำไก่ไปชำแหละแล้วนำไปวางขายนั้นถูกจับ และเสียค่าปรับ 20,000-30,000 บาท จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้พ่อค้าจำเป็นต้องมีใบแสดงว่าไก่ได้ผ่านการชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์มาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีต้นทุนการจัดการตั้งแต่การซื้อไก่ การชำแหล่ะที่โรงฆ่าสัตว์ ค่าขนส่งแล้วก็พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ตลาดในชุมชนส่วนใหญ่เป็นพ่อค้ารายใหญ่ส่วนรายย่อยหายไปจากระบบตลาด พ่อค้ารายใหญ่ดังกล่าวมักชำแหละไก่เพื่อเอาไปจำหน่ายที่ตลาดอื่น โดยคนในท้องถิ่นแทบไม่ได้บริโภคไก่พื้นเมืองเลย เนื่องจากมีพ่อค้าบางรายที่รวบรวมไก่นำไปไปต่างประเทศ “หากหาทางออกก็ไม่รู้ว่าทางออกมันคืออะไร กฎหมายสาธารณสุขที่ทำให้เนื้อไก่ไปถึงผู้บริโภคด้วยความสะอาดปลอดภัยเราก็เห็นด้วยแต่ทำไมถึงไม่มีช่องทางให้กับรายย่อยที่จะค้าขายเป็นอาชีพของครอบครัวเขา”
อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมสัตว์: ความหลากหลายเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563