ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum gnemon var. tenerum
ชื่อวงศ์ : Gnetaceae
ชื่อสามัญ : Baegu
ชื่ออื่น : ผักเหลียง ,ผักเหมียง ,ผักเขลียง ,ผักเปรียง ,กะเหรียง
ถิ่นกำเนิด :
และการแพร่กระจายผักเหลียงเป็นพันธุ์ไม้ป่า มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรมาลายู พบแพร่กระจายทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว เติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น แพร่กระจายบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 50-200 เมตร โดยประเทศไทยพบแพร่กระจายทั่วไปบริเวณเชิงเขา และที่ราบในภาคใต้ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และกระบี่ สายพันธุ์ผักเหลียง ผักเหลียงพบประมาณ 6 สายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมปลูก และรับประทานมากแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่
1.Gnetum gnemom var. genemon พบแพร่กระจาย และปลูกมากในประเทศอินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกีนี
2.Gnetum gnemom var. tenerum พบแพร่กระจาย และปลูกในภาคภาคใต้ของไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (พันธุ์ tenerum)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ลำต้น ผักเหลียง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ ลำต้นมีขนาด 10-30 มิลลิเมตร สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้น และกิ่งมีลักษณะเป็นข้อๆ ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก และแตกไหลออกด้านข้าง จนแลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้ม แต่ละกิ่งไม่มีการสลัดทิ้งกิ่ง ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะหักง่าย
ใบ ผักเหลียง เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะใบคล้ายใบยางพารา ใบแตกออกที่ปลายกิ่งแขนง แตกออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะรี มีก้านใบยาวประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบบาง แต่เหนียว ใบอ่อนมีสีแดงอมส้ม มีรสหวานมัน
ดอก ผักเหลียงออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อดอกเป็นช่อดอกแบบเชิงลด มีความยาวช่อประมาณ 2-5 เซนติเมตร แยกออกเป็นต้นดอกช่อตัวผู้ และต้นดอกสมบูรณ์เพศแยกต้นกัน
ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะเป็นข้อๆที่มีดอกตัวผู้เรียงล้อมข้อดอกมีขนาดเล็ก มีกลีบดอกสีขาว ส่วนต้นดอกสมบูรณ์เพศมีช่อดอกยาวประมาณ 5 – 7 เซนติเมตรดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกต้นตัวผู้ ทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียเรียงล้อมบนข้อเหมือนต้นดอกตัวผู้ 7 – 10 ข้อ ทั้งนี้ ดอกผักเหลียงจะเริ่มออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
ผล ผลผักเหลียงออกรวมกันบนช่อ แต่ละช่อมีผลประมาณ 10-20 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวย กว้างประมาณ 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5 – 4 เซนติเมตร เปลือกผลค่อนข้างหนา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีรสหวาน ทั้งนี้ หลังออกดอก ดอกผักเหลียงจะเริ่มติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และผลสุกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และติดเริ่มติดผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี ขึ้นไปแต่การติดดอกออกผลจะไม่แน่นอน บางปีอาจไม่มีการติดดอกออกผล โดยเฉพาะปีที่ฝนตกชุกมาก
เมล็ด เมล็ดผักเหลียงมีรูปไข่หรือรูปกระสวย เปลือกหุ้มเมล็ดบาง และหนาเฉพาะบริเวณขั้วเมล็ด ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เมล็ดค่อนข้างงอกยาก และงอกช้า
การขยายพันธุ์ :
เพาะเมล็ด , ปักชำ , ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์ :
– ยอดผักเหลียง กรอบเมื่อรับประทานสด นุ่มเมื่อปรุงสุก มีรสชาติอร่อย หวานมัน นิยมรับประทานสดหรือใช้ประกอบเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง ผัดใส่ไข่ แกงจืด แกงกะทิ และแกงไตปลา เป็นต้น
– ผักเหลียง ใช้เคี้ยวหรือรับประทานสดแก้หิว แก้ท้องว่าง ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มกำลังวังชา แก้อาการขาดน้ำ โดยเฉพาะเวลาเดินทางไกลหรือเดินป่า
– เมล็ดใช้คั่วรับประทานเป็นของขบเคี้ยวคล้ายถั่ว ส่วนประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย นิยมใช้เนื้อเมล็ดมาบด ก่อนรีดเป็นแผ่น และทอดใช้ทำข้าวเกรียบ
– ผักเหลียงในบางครัวเรือนใช้ปลูกในกระถางเพื่อประดับในบ้านเรือน เพราะลำต้นแตกออกเป็นทรงพุ่ม มีใบเขียวสดตลอดทั้งปี
– ทุกส่วนของผักเหลียงประยุกต์ใช้เป็นยาสมุนไพร อาทิ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา และแก้โรคซางในเด็ก เป็นต้น
– ยางจากลำต้นใช้ทาลอกฝ้า ช่วยให้หน้าขาวใส
– ผลเหลียงสุกมีรสหวานสามารถรับประทานได้ และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่า
– ผักเหลียงช่วยในการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ช่วยชะลอการไหลซึมของน้ำ ช่วยให้หน้าดินชุ่มชื้นนาน ช่วยป้องกันไฟป่า ช่วยบำรุงดิน ป้องกันหน้าดินแข็ง เอื้อต่อการเติบโต และให้ผลผลิตของพืชหลักในแปลง
– ช่วยเพิ่มรายได้ อาทิ การปลูกเหลียงแซมในสวนยาง สวนปาล์ม นอกจากจะได้รายได้จากสวนยางหรือปาล์มแล้ว ยอดผักเหลียงยังช่วยสร้างรายได้งามในแต่ละปี
ที่มา : https://ewt.prd.go.th