โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            ตอน 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13: “การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศ” โดยคุณอุบล อยู่หว้า ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
            ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้นำเสนอประเด็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ที่เชื่อมโยงบริบทพื้นที่กับการพัฒนาประเทศที่ควรนำพิจารณาร่วม ดังต่อไปนี้

การทำความเข้าใจเศรษฐกิจครัวเรือน
           การวิเคราะห์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค/ชาติ โดยที่ยังขาดความเข้าใจในเศรษฐกิจของประเทศ จากการศึกษาของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ได้ศึกษาที่ว่าเศรษฐกิจครัวเรือนนั้นมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจชาติ นั่นสื่อได้ว่าตลอดระยะเวลา 60 ปีของการมีแผนพัฒนาฯ มาไม่ได้ทำความเข้าใจกับเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างจริงจังว่ามีการผลิตอะไร มีการดำรงอยู่อย่างไร มีความสัมพันธ์ในการผลิตและทำหน้าที่อย่างไร แต่ว่า “ทุกครั้งที่ประเทศมีวิกฤติไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หรือวิกฤติโควิดในปัจจุบันก็ตาม ภาคเศรษฐกิจครัวเรือน ภาคเศรษฐกิจชนบทจะเป็นที่ที่รองรับ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่รองรับชีวิตผู้คน” ฉะนั้นการทำแผนพัฒนาฯ ต้องทำความเข้าใจว่าเศรษฐกิจครัวเรือนมีการดำรงอยู่อย่างไรแล้วมันทำหน้าที่อย่างไรที่ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรับผิดชอบหรือรองรับคนทำงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับคนรุ่นใหม่ที่ยังคงสามารถเติบโตกับตายายที่อยู่กับครัวเรือนในชนบท ที่ทางสภาพัฒน์ต้องทำความเข้าใจและหาแนวทางให้เศรษฐกิจครัวเรือนนี้เข้มแข็งขึ้นไม่ใช่ปล่อยไว้ตามชะตากรรม ที่สะท้อนว่ากรอบแผนพัฒนาฯ ขาดวิสัยทัศน์ทางสังคมว่าผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จึงมีข้อเสนอให้ทางสภาพัฒน์ต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจครัวเรือนและสร้างแผนพัฒนาที่จะทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีความเข้มแข็ง

การปรับภูมิทัศน์ทางการเกษตร

            พี่น้องอีสานกลุ่มใหญ่และพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานอยู่ในสายพานการผลิตพืชอุตสาหกรรม คือ มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากมีความจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเกษตรขนานใหญ่ การผลิตพืชอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ที่ว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมใหญ่ของพืช 2 ชนิดที่ครอบครองแผ่นดินอีสานจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่กระบวนการที่ยั่งยืน จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าทางอีสานส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหากรัฐเข้ามาสนับสนุนการจัดหาน้ำให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 15-20% ของพื้นที่ เช่น หากรัฐสามารถจัดหาน้ำได้ 3-5 ไร่ จากเดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยวทั้งหมด 20 ไร่ เกษตรกรก็สามารถปรับรบบการผลิตให้หลากหลายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกเศรษฐกิจไม้ผล 3-5 ไร่ในพื้นที่ที่เข้าถึงน้ำในการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนมากกว่ามันสำปะหลัง 20 ได้ เพราะฉะนั้นภูมิทัศน์ทางการเกษตรของประเทศถ้าหากมองถึงความเหลื่อมล้ำหรือคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นที่ตั้งนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไม่ใช่เปิดโอกาสให้ทุนมาจัดการกับชีวิตผู้คน โดยเข้ามาใช้ทรัพยากร แรงงานคนในการผลิต แต่ต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้เกิดความหลากหลายทางการเกษตร

การจัดการความสัมพันธ์บนแม่น้ำโขง

            แม่น้ำโขงถือเป็นสายน้ำที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมากในภาคอีสาน (ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม) ที่ครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี แต่ด้วยแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านจากประเทศจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และกัมพูชา หากประเทศไทยไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่ชัดเจนต่อการจัดการลุ่มน้ำแน่นอนว่าการออกนโยบายหรือมาตรการจากประเทศที่เกี่ยวข้องบนแม่น้ำโขงอาจทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนในภาคอีสานได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นในแง่ลุ่มน้ำโขงในภาคอีสานนั้น ภาคอีสานต้องการน้ำหนักและการตั้งธงนโยบายของรัฐที่ชัดเจนว่าจะจัดการความสัมพันธ์บนแม่น้ำโขงอย่างไร เพื่อไม่ให้มันมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำนี้

สนับสนุนผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น

            จากกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ในหมุดหมายที่ 12 ที่มุ่งการพัฒนาทักษะและคุณภาพแรงงานที่จะตอบสนองภาคอุตสาหกรรมนั้น สิ่งที่ขาดไปในหมุดหมายคือ กรอบแผนพัฒนาฯ ไม่ควรสร้างคนไปในภาคบริการและอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวแต่ต้องสร้างคนที่จะไปประกอบการด้วยตนเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่าผู้สูงวัยมาเริ่มต้นทำการเกษตร ดังสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในชนบท หากทางสภาพัฒน์มีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นควรมุ่งในระดับตำบล/หมู่บ้าน เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตร โดยไม่ใช่ดึงผู้ประกอบการจากกรุงเทพฯ มาประกอบการที่ต่างจังหวัด ดังนั้นสภาพัฒน์ควรมียุทธศาสตร์การสร้างผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้ชัดเจนเพื่อส่งผลพัฒนาในระดับพื้นที่ได้จริง

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ