โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กล่าวได้ว่า สามารถวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุการเกิดปัญหา และกำหนดเป้าหมายไว้ได้อย่างชัดเจน แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหากลับยังยึดโยงแบบเดิมๆ คือเน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งต่างกับสังคมโลกในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญและยกระดับการพัฒนาที่เชื่อมโยงระบบนิเวศน์เป็นศูนย์กลางร่วมกับการพัฒนาคน และที่สำคัญภาคการเกษตรได้เป็นหลังพิงของประเทศ เห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ ไม่ว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคเกษตรได้สร้างความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงอาหารของผู้คนในสังคม ซึ่งในกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 กลับไม่ได้พูดถึงความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต นอกจากนั้นในภาพรวมเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ต่อยอดหรือสืบเนื่องจากแผนฯ 12 ที่ผ่านมา

        สำหรับกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมนั้น ได้มีการวิเคราะห์ในหลายประเด็นที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น

  1. การวิเคราะห์ การเจริญเติบโตของภาคเกษตรมีเพียง 6% ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ซึ่งถือเป็นมายาคติ เพราะหากมองมูลค่าการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปี 2561 ซึ่งมีการแปรรูปผลผลิตจากภาคการเกษตรรวมอยู่ มีมูลค่าสูงกว่า 600,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง การเจริญเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มองเชื่อมโยงมูลค่าการแปรรูปผลผลิตที่มาจากภาคเกษตรด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรแยกภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมออกกันโดยสิ้นเชิง
  2. การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่กล่าวว่า คนสูงวัยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่วัยแรงงานลดลง ในแผนปฏิบัติไม่ได้กล่าวถึง การพัฒนาศักยภาพสำหรับคนสูงวัยที่สามารถทำงานในภาคเกษตรได้อย่างเหมาะสม หรือไม่ได้กล่าวและให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาทำการเกษตร ซึ่งในความเป็นจริงพบว่า มีคนรุ่นใหม่สนใจการเกษตรโดยเฉพาะระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ไม่ได้ระบุเกษตรอินทรีย์ไว้ แต่กลับระบุเกษตรปลอดภัย ซึ่งยังเป็นการทำเกษตรที่สามารถใช้สารเคมีได้

        จึงกล่าวได้ว่า ร่าง กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ขาดและไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรในหลายประเด็น ดังนี้

  • การกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ในระดับพื้นที่มาร่วมกัน เพื่อพัฒนาและจัดการภาคเกษตร ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน ฯลฯ
  • การส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น พัฒนาการใช้พื้นที่ตามเหมาะสมในนิเวศต่างๆ การมีกองทุนพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เป็นทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด การจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการทำเกษตร มีกลไกเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค มีแหล่งรวบรวมผลผลิตและแหล่งสำรองอาหารของชุมชน
  • การให้ความสำคัญด้านการศึกษานอกระบบ ที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน เช่น การสร้างศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนที่มีหลักสูตรความรู้จากประสบการณ์บทเรียนของเกษตรกร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เป็นต้น

บทความแนะนำ