โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 25 ผักพื้นบ้าน : แหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

ผักพื้นบ้านในชุมชนคลองยอ

        คลองยอตั้งอยู่ที่ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สภาพพื้นที่มีหลายลักษณะทั้งควนเขา ระหว่างควนเขาจะเป็นที่ราบ และมีลำคลองไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพาราที่บางแห่งได้ผสมผสานไม้ผล และพืชผักพื้นบ้านที่หลากหลายลงไป ลักษณะของการทำเกษตร เช่นนี้ เพิ่งถูกรื้อฟื้นกลับคืนมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากพื้นที่เกษตรของชุมชนคลองยอ ได้มีเพียงยางพาราเชิงเดี่ยวมานาน จนทำให้คนรุ่นอายุ 50 แทบจำไม่ได้ว่าพืชพื้นบ้านที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในแปลงยางมีอะไรบ้าง และนำมาใช้ทำอาหารอย่างไร

        “แต่ก่อนนั้นอาศัยผักที่เติบโตตามธรรมชาติมาทำอาหาร มาทำฟืนหุงต้ม มาสร้างที่อยู่อาศัย ทำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รวมถึงสมุนไพรยามเจ็บป่วย ทุกวันนี้พึ่งพาตลาดเป็นส่วนมากทั้งอาหารและความเป็นอยู่”

ผักพื้นบ้านในความหมายของชุมชน

        ผักพื้นบ้านในความหมายของคนในชุมชนคลองยอ หมายถึง “พืชผักที่มีมานานเจริญเติบโตตามธรรมชาติในชุมชน สามารถนำมาเป็นอาหารได้” จากที่ชุมชนเคยมีพืชพื้นบ้านที่หลากหลายและได้หายหรือลดลงไปจนเป็นที่ไม่รู้จัก หลังจากมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกยางพาราเพียงชนิดเดียว มีการใช้สารเคมี โดยเฉพาะยาปราบวัชพืชได้เปลี่ยนวิถีเกษตร เปลี่ยนวิถีชีวิต พืชผักในป่าและรอบบ้านลดความสำคัญลงไป พื้นที่ไร่ที่เคยทำข้าวไร่ก็หายไป เช่นเดียวกับการคัดเลือกและเก็บพันธุ์พืชแต่กลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากตลาดแทน

สถานการณ์ห่วงใยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

        ในสถานการณ์ที่ทุกคนหันกลับมาใส่ใจในสุขภาพของคนในครอบครัว กระแสการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผักตลาด ความไม่แน่นอนของราคายางพารา ทำให้คนในชุมชนตระหนักและหันมาสนใจหาความรู้ วิธีการกินผักพื้นบ้าน  และเมื่อชุมชนได้รื้อฟื้นเอาผักพื้นบ้านและข้าวไร่กลับมา ความหลากหลายก็กลับคืน วิถีอาหารการกินผักพื้นบ้านกลับมา จากงานศึกษาแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผักพื้นบ้านในชุมชนบ้านคลองยอ ของนางสาวณัฐนิชา จันทิพย์ (2560) ได้นำเสนอเรื่องความหลากหลายของผักพื้นบ้านในชุมชนว่า มีความหลากหลายของพืชถึง 84 ชนิด และสามารถแยกแยะตามถิ่นที่อยู่ของผักพื้นบ้านในชุมชนเป็น 6 แหล่ง ดังนี้  (ณัฐนิชา จันทิพย์, 47-51 :2560)  

ความหลากหลายของผักพื้นบ้านสร้างความมั่นคงทางอาหาร

            ผักพื้นบ้านในชุมชนบ้านคลองยอที่เคยมีอยู่ และถูกลดความสำคัญลงไปหรือหายไป เมื่อชุมชนเห็นความสำคัญและฟื้นคืนการใช้ประโยชน์กลับมา ทำให้ชุมชนได้รับรู้ว่าพืชผักที่เติบโตอยู่ตามธรรมชาตินั้น นำมาเป็นอาหารและใช้ประโยชน์ รวมถึงสร้างความสมดุลในแปลงเกษตรได้ ซึ่งการสำรวจพบพืชจำนวน 84 ชนิดนั้น ส่วนใหญ่จะเติบโตได้ดีในป่าชื้น และสวนรก นั่นก็คือสวนยางพาราที่สามารถเจริญเติบโตไปร่วมกับพืชอื่นๆ ได้มีถึงจำนวน 31 และ 24 ชนิดตามลำดับ และไม่ว่าในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือพื้นที่ไร่ หรือพื้นที่ปลูกยางพาราขนาดเล็กพืชผักธรรมชาติเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน และที่สำคัญบริเวณพื้นที่ที่มีความหลากหลายชนิดพืชนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดินดีมาก พืชหลักที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดี

            ดังนั้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน จึงเริ่มได้จากการสร้างพื้นที่แปลงเกษตรให้มีความหลากหลายของชนิดพืชที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งการรื้อฟื้นค้นคว้าการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านอาหารการกิน สมุนไพร เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึงการจำหน่ายและแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับพืชผักพื้นบ้านเหล่านั้น

อ้างอิง : งานศึกษาแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผักพื้นบ้านในชุมชนบ้านคลองยอ นางสาวณัฐนิชา จันทิพย์ (2560) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย คุณดาวเรือง พืชผล เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน (กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จ.ยโสธร)