โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ดร.สายฝน สิทธิมงคล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ร่วมในวงเสวนาหัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงวิชาการของงานที่ชื่อ ““ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยเป็นผู้อภิปรายในหัวข้อย่อย “ระบบนิเวศ และ SDGs”

.

  • ระบบนิเวศที่สำคัญของโลก

ดร.สายฝน ขึ้นต้นการเสวนาบนเวทีฯ ว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่ยังเห็นคนที่นี้ยังเห็นคุณค่าของการทำป่าเรียน เห็นคุณค่าของเกษตรผสมผสาน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่”

.

จากนั้นจึงให้ข้อมูลภาพใหญ่แบบเชื่อมโยงระดับโลกกับระดับภูมิภาค ลงมาจนถึงระดับท้องถิ่นว่า “พื้นที่ที่เราอยู่เป็นนิเวศป่าร้อนชื้นในเขตศูนย์สูตร มีแค่ 7% ของโลก แต่ความหลากหลายทางชีวภาพมีมากกว่า 50% ของโลก นั่นหมายความว่าเรามีสมบัติในบ้าน ซึ่งเป็นสมบัติเฉพาะที่ คือ “ป่าเรียน” มีทั้งทุเรียนบ้าน ทุเรียนท้องถิ่น รวมถึงความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซึ่งสำคัญต่อโลก เป็นแหล่งให้ดินดี น้ำดี อากาศดี และทำให้โลกเย็นลงได้ด้วย”

.

ในประเด็นความยั่งยืน ดร.สายฝนชี้ว่า ป่าเรียนจะสามารถตอบโจทย์ของทั้งโลก “เพราะตอนนี้ทั้งโลกมีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ซึ่งตั้งไว้ 17 ข้อ โดยครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้มนุษย์อยู่ในพื้นที่ที่มีสุขภาวะที่ดี ฉะนั้นงานของเรา (พื้นที่) ไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรา หรือตอบโจทย์เรื่องปากท้อง แต่มุ่งไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้วย

.

“ป่าเรียนในอนาคตสามารถทำเป็นเงินได้ เช่น จากกรณีคาร์บอนเครดิต นอกจากการเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลานในอนาคต เมื่อเป็นพื้นที่ป่าคล้ายวนเกษตรขนาดใหญ่จะมีมูลค่าสูงมาก เพราะจะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น พื้นที่แบบนี้จะตอบโจทย์ทั้งเศรษฐกิจ กล่าวคือ อยู่ได้ มีอาหาร จ่ายน้อย นำสู่การสร้างสังคม สร้างเครือข่ายให้เกษตรกร เครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เครือข่ายสถาบันการศึกษา เครือข่ายรัฐ ที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน”

.

  • ระบบเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัย

ดร.สายฝน ตอกย้ำความสำคัญแบบเฉพาะถิ่นอีกว่า “ป่าเรียนแบบนี้มีเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ สิ่งที่ต้องเก็บคือพันธุกรรมพื้นบ้าน หัวใจของเกษตรกรรมที่เป็นนิเวศเกษตรแบบนี้คือความหลากหลายที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่น ต้องเก็บองค์ความรู้ของเกษตรกร ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ข้อสังเกตของชุมชน เช่น ต้นทุเรียนจะขยายพันธุ์ได้ไม่ได้มีเฉพาะชันโรง ผึ้ง หรือผสมเอง แต่ต้องมีค้างคาว หรือมีสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ต้องการระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เพราะเขาก็ต้องการอาหาร ไม้ผลที่อยู่ในพื้นที่ ต้องการพืชต่าง ๆ ที่อยู่ข้างล่างให้หลากหลาย

.

“สุดท้ายป่าเรียนตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม เขา ป่า นา เล วิถีนิเวศเหล่านี้เป็นป่าที่ให้ธรรมชาติหล่อเลี้ยงได้ คนที่นี้ถ้าเป็นป่าเรียนป่ายางจริงจะไม่ใช้สารเคมี แม้แต่ปุ๋ยเองก็จะใช้เศษไม้ใบหญ้าที่เกิดขึ้นเองจากในระบบนิเวศย่อยสลายและให้อาหารพืช ทั้งยังเจอว่า นอกจากพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จุลินทรีย์ ยังเจอพวกเห็ด สิ่งเหล่านี้บ่งบอกเลยว่า ระบบเหล่านี้อุดมสมบูรณ์

.

“ระบบน้ำที่นี้ไม่ขาด อากาศสดชื่น PM2.5 ไม่ได้ใกล้ ในทางสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเก็บพื้นที่แบบนี้ไว้ และยิ่งมีนิเวศเกษตรเหล่านี้มากเท่าไรยิ่งดี”

.

  • วิถีนิเวศจากภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ต้องร่วมกันรักษาไว้

“ฉะนั้น วิถีเหล่านี้คือวิถีธรรมชาติ องค์ความรู้แบบนี้ต้องถ่ายทอดมาเป็นพันปี ไม่ใช่แค่ที่นี้ แต่รวมไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงบราซิล แถบอเมริกาใต้ เขาก็มีภูมิปัญญาในการดูแลเกษตรนิเวศแบบนี้ดั้งเดิมอยู่แล้ว ซึ่งต้องรักษา เหล่านี้คือเรื่องของภูมิปัญญา

.

“ต้องเก็บพื้นที่เหล่านี้ไว้ ดูแลสวนแบบนี้ไว้ รวมถึงการแบ่งปันเพราะในวิถีของป่าเรียนจริงๆ เขาจะเอื้อเฟื้อต่อกัน เช่น เมื่อทุเรียนหล่นจากต้น เป้าหมายแรกไม่ใช่การขาย แต่คือการแบ่งปันชุมชน ญาติ พี่น้อง นั่นหมายถึงการสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

.

“สิ่งที่เรามาร่วมกันในวันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เกษตรกร ภาคีต้องช่วยหนุนเสริมเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องต่อสู้กับทุนจีน ต่อสู้กับการเก็บรักษาพันธุกรรมท้องถิ่น ต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาช่วย นำเทคโนโลยีการขยายพันธุ์มาช่วย ต้องให้ อบต. ท้องถิ่นมาช่วย รวมถึงผู้บริโภคเองต้องสนับสนุนสินค้าที่ปลอดสารเคมี สินค้าที่มาจากพื้นบ้าน สินค้าที่มาจากชุมชน”

.

สุดท้าย ดร.สายฝนสรุปว่า “กิจกรรมวันนี้ถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและพลเมืองโลกที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่าง SDGs”

บทความแนะนำ

“กรอบแผนฯ 13 ควรให้ความสำคัญการศึกษานอกระบบที่สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านศูนย์เรียนรู้ที่มีหลักสูตรเกิดจากประสบการณ์ของเกษตรกรในชุมชนนั่นเอง…”

เสวนาออนไลน์เวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ โดย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)