จากคำถามที่ว่า “เมื่อการทำนา การปลูกข้าวมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดในนาข้าว นกกินข้าวจนไม่ได้ผลผลิต ผลผลิตข้าวตกต่ำ ราคาข้าวไม่ดี ข้าวปีก่อนยังระบายไม่หมด วิกฤตของชาวนาเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ทำไมถึงไม่หยุดทำนา?”
ในงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567 นี้ จึงถือโอกาสพูดคุย ตั้งคำถามแบบล้วงลึกกับชาวนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำงานเชื่อมโยงกับข้าวและชาวนา ในเครือข่ายของเราว่า ทำไม? เพราะอะไร? ถึงยังมุ่งมั่นในการทำนา ผลิตข้าว แปรรูปข้าว สรรหาสารพัดวิธีที่จะช่วยให้ข้าวพื้นบ้าน ข้าวอินทรีย์ได้รับการยอมรับจากคนกิน อยู่ในจานข้าวหลักของเรา อยู่ในความรักของคนกินให้มากขึ้น
พ่อส่ง บุญส่ง มาตขาว ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร ได้ร่วมพูดคุยกับเราในประเด็นนี้มุมมองความคิดและความรัก(ษ์) ของพ่อบุญส่ง
“เราเป็นชาวนา เราต้องไม่จำนนอยู่กับสิ่งที่เราทำมาแล้ว แต่มันไม่พัฒนาไปไหน นับวันมีแต่จะจนลง หนี้สินเพิ่มขึ้น เรา(ชาวนา)ก็เลยต้องต่อสู้ แล้วก็หาทางรอด ทางออกที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาอาชีพชาวนา อาชีพเกษตรกร ให้มีรายได้ ให้เกิดการยอมรับ เราก็เลยต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา”
ก็เลยมาคิดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน คิดเรื่องการผลิตที่หลากหลาย คิดเรื่องการทำแบบครบวงจร ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด ในเมื่อเราเป็นผู้บุกเบิกมาก่อนคนอื่น ทำมาแล้วหลายสิบปี เราก็ต้องพัฒนาเรื่องข้าวอินทรีย์ไปให้สุดสายพาน ทำให้เจอทางรอด มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และเกิดความภูมิใจในอาชีพนี้
ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ยุคชาวนาหากินเหมือนแต่ก่อน จากทำนาเพื่อกิน ก็เปลี่ยนไปเป็นการทำนาค้าขายไปด้วย พัฒนาตามระบบสังคม ระบบทุนนิยมที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับวิถีของชาวนาเพิ่มขึ้น เราต้องปรับตัว รู้จักผลิตให้เป็น แปรรูปให้ได้ และขายให้เป็น
ตอนนี้มีความท้าทาย มีความลำบากมากมายที่ชาวนาต้องเผชิญ แต่ถามว่าทำไมยังทำนาอยู่ ทำไมยังยืนหยัดในการทำนาอินทรีย์ และข้าวพื้นบ้าน ถ้าพูดให้จบกระบวนการ มันขึ้นอยู่กับใจใจที่เรามุ่งมั่นว่าเราจะทำอาชีพนี้แหละ หากเราไม่ได้คิดว่าจะไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่เราก็ต้องศึกษาค้นคว้า และก็พร้อมที่จะเอามาปรับใช้กับอาชีพของเรา เพื่อให้มันสอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตตรงนี้ เหมือนกับว่าชาวนาอย่างเราต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วอยู่ตลอด พร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะน้อมรับสิ่งที่มีประโยชน์มาปรับใช้และพัฒนา ให้สามารถเกิดการยอมรับ หรือเกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น มันก็ทำให้เรารักในอาชีพนี้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องชัดเจนว่าเราเป็นชาวนา ไม่ใช่ผู้จัดการนา ถ้าเป็นผู้จัดการนา มันไปไม่รอด มันจะขาดทุน เราต้องรักการใช้แรงงาน ต้องทำเองก่อน ไม่ต้องไปเที่ยวจ้างเขาทุกอย่าง อันไหนที่เราทำไม่ได้ เราก็จ้างเพิ่มเติม และถ้าเราทำให้มีคุณภาพ ไม่ใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ ก็ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งสิ่งแวดล้อม ได้ทั้งสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเขาเห็นดีเห็นงามไปกับเรา ก็มีเครือข่าย ได้พี่ได้น้องเพิ่มขึ้น มันก็ทำให้เราภาคภูมิใจ
“เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต หันมาพึ่งพาตนเองมีองค์ความรู้ในการตั้งรับ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ต้องรู้จักพันธุ์ที่มันเหมาะสม”
ในช่วงหลายปีมานี้ มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น คือ ช่วงดำนาไม่มีน้ำ แต่พอเกี่ยวกลับมีน้ำ ดำนาแห้ง เกี่ยวข้าวน้ำ แต่ชาวนาที่เขารู้สถานการณ์ดี เขาก็ขยับเวลาลงนา ปลูกข้าวให้ช้ากว่าเดิม แต่ข้อด้อยของข้าวทางอีสาน มันเป็นข้าวไวแสง เมื่อแสงเปลี่ยน มันก็จะเริ่มออกรวง ก็เลยทำให้บางทีต้องลุยน้ำเกี่ยว เพราะมันถึงเวลาที่ต้องเก็บเกี่ยวแล้ว
ดังนั้น เครือข่ายของเราจึงต้องพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และพยายามหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายมาก ถ้าเราได้สายพันธุ์ข้าวที่ลงตัวแล้ว เราก็ต้องอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเอาไว้ ปลูกให้มีตลอด และต้องบันทึกข้อมูลไว้ว่านารอบนี้ ช่วงนี้ ต้องใส่ข้าวพันธุ์ไหนถึงจะไม่มีปัญหา ต้องเป็นชาวนาที่มีข้อมูล มีความรู้ มีภูมิปัญญาในการปลูกข้าวแต่ละสายพันธุ์ และต้องรู้จักปรับตัว ไม่ใช่ว่าเคยชิน ทำแบบไหนมาก็เอาแบบนั้น
ตอนนี้ในกลุ่มพื้นที่ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ปลูกข้าวเพื่อรักษาพันธุ์ไว้ 30-40 สายพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพื่อศึกษาเรียนรู้ ส่วนที่ปลูกเพื่อการค้าขาย มีอยู่เกือบ 10 สายพันธุ์ ได้แก่ หอมมะลิ หอมมะลิแดง ไรซ์เบอรี่ หอมนิล ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว และก็ปลูกข้าวเพื่อแปรรูป อย่างข้าวเล้าแตกก็เอาไปทำข้าวโป่ง ข้าวเจ้าแดง เอาไปทำเส้นขนมจีน
จากจุดยืนที่ชาวนาให้ความสำคัญกับการพัฒนา และอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวนี้เอง เมื่อถามว่าตอนนี้ในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ้าง ต้องตอบตามตรงว่า ในพื้นที่ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบใดที่เด่นชัด ยังไม่มีพันธุ์ไหนที่ไม่ให้ผลผลิตจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อพูดถึง ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) พ่อบุญส่งอยากบอกอะไรกับคนอ่าน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งชาวนา เกษตรกร ผู้บริโภค คนแปรรูป หรืออาจจะเป็นผู้ประกอบการก็ได้ “เราอยากให้คนได้รู้จักข้าวพื้นบ้าน เห็นความสำคัญของข้าวพันธุ์พื้นเมืองของเรา ถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้ มันก็จะสูญหายไป และเราก็อนุรักษ์ไว้เพื่อจะพัฒนาพันธุ์ต่อ อย่างข้าวเจ้าเหลือง
แต่ว่าข้อด้อยของมันคือให้ผลผลิตต่ำ เลยไม่ค่อยมีใครอยากปลูก กลุ่มอนุรักษ์เราก็เลยพยายามเอาข้าวที่มีผลผลิตสูงมาผสม แต่ว่าทำให้คุณค่าโภชนาการคงที่ และอีกส่วนที่เราจำเป็นต้องอนุรักษ์ความหลากหลายนี้ไว้ เป็นเรื่องของวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน อีสานเราจะมีฮีต 12 คอง 14 งานบุญต่างๆ ที่ใช้ข้าวในพิธีกรรม”
และในโอกาสที่เราจัดงานข้าวใหม่ในปีนี้ เราถือว่าเป็นภารกิจของเครือข่ายในการเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้เข้าใจ ได้สร้างสายสัมพันธ์ความเป็นพี่เป็นน้อง และสร้างโอกาสให้กับชาวนา ให้เขามีความภูมิใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ขอให้พี่น้องได้มาร่วมงาน หรือว่ามาช็อป มาชิม มาทดลองรสชาติข้าวของประเทศไทย ว่ามีหลากหลายรสชาติ มีคุณค่าโภชนาการที่ต่างกัน ได้มาศึกษาเรียนรู้ ถามข้อมูลจากเกษตรกรหรือจากผู้ผลิตในงานนี้
“และในส่วนตัวจริงๆ อยากเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับกระบวนการผลิตถ้าการผลิตนั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยกัน ก็ควรจะสนับสนุน ควรจะส่งเสริม บริโภคเพื่อรักษาอาชีพชาวนา บริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าราคามันจะแตกต่างกับเกษตรเคมีบ้างนิดหน่อย เราก็ควรเสียสละส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ชาวนาได้มีกำลังใจในการทำความดีต่อผู้บริโภค และเพื่อให้ชาวนามีที่เหยียบที่ยืน”
ขอบคุณผู้สัมภาษณ์ (ใหม่) นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything พื้นที่เล็กๆ ที่ชวนมา
ว่ า ง เว้นจากความวุ่นวาย
แล้วพบกัน
เทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์
วันที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี