โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

คุณกำราบ พานทอง แห่งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ บอกเล่าผ่านวงเสวนาหัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในท่ามกลางหลายๆ กิจกรรมของงานที่ชื่อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เกี่ยวกับการจัดทำโครงการยกระดับทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน 7 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่งต่อจากกิจกรรมการประกวดพันธุ์ทุเรียนบ้าน

โครงการเพื่อยกระดับพันธุ์ทุเรียนบ้าน

สาระสำคัญของโครงการดังกล่าวคือการนำทุเรียนพื้นบ้านมาตรวจและวิเคราะห์หาสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งได้ดำเนินการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2566 ระหว่างเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน โดยสำนักเครื่องมือและการทดสอบ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการยกระดับพัฒนาสินค้าทุเรียนบ้าน ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ทางภาคใต้ในจังหวัดสงขลา ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่วนวัตถุประสงค์รองได้แก่ การก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของมหาวิทยาลัยและชุมชนในพื้นที่ และเพื่อนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือชุมชน

สำหรับทุเรียนบ้าน 7 สายพันธุ์ที่ได้รับการทดสอบ มาจากงานประกวดทุเรียนบ้าน 5 เวทีที่จัดโดยชมรมรักษ์สวนสมรม ประกอบไปด้วย พันธุ์นมสด นมสาว ไอ้เหลือง มุกตาอ่ำ เล็บเหยี่ยว สุปนาแสน2 และพิกุลกลิ่น

พลังงานและสารสำคัญที่ตรวจพบใน “เรียนบ้าน”

ผลจากการตรวจทุเรียนบ้าน 7 สายพันธุ์ ในส่วนของสารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารกลุ่มฟีนอลิก กรดอะมิโน สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ คุณค่าทางโภชนาการที่พบสูงแต่ละสายพันธุ์ (จากการทดสอบเนื้อทุเรียน 100 กรัม) ได้แก่ 1) โปรตีน พบในพันธุ์นมสาว 2) คาร์โบไฮเดรต พบในพันธุ์ไอ้เหลือง 3) ไขมัน พบในพันธุ์สุปนาแสน2 4) พลังงาน พบในพันธุ์สุปนาแสน2 5) กลุ่มฟีนอลิกทั้งหมด พบในพันธุ์พิกุลกลิ่น และ 6) กลุ่มฟลาโวนอยด์ทั้งหมด พบในพันธุ์นมสด

หากแบ่งตามสายพันธุ์และตามพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลทุ่งตำเสา พันธุ์ยุโส่บนาแสน2 มีปริมาณไขมันและพลังงานมากกว่าพันธุ์อื่น พื้นที่ตำบลสะเดา 3 สายพันธุ์ คือ นมสด นมสาว เล็บเหยี่ยว มีกรดอะมิโน โปรตีน และพื้นที่ตำบลเขาพระ ซึ่งเป็นพื้นที่ 2 ฝน สารสำคัญที่พบคือโปรตีนและกรดอะมิโน

ทั้งนี้ คุณกำราบอธิบายเพิ่มเติมถึงผลดังกล่าวว่า “ข้อมูลวิทยาศาสตร์บอกเราได้ว่า แต่ละพื้นที่เด่นเรื่องอะไร หากต้องการอะไร ควรเลือกบริโภคตามพื้นที่ เช่น หากต้องการผิวสวยให้เลือกกินทุเรียนจากพื้นที่เขาพระ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านมะเร็ง และยังเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่บริโภคโปรตีนน้อย ดังนั้น ถ้าบริโภคทุเรียนก็อาจจะช่วยได้ โดยควรทานพันธุ์นมสาว นมสด พันธุ์เล็บเหยี่ยวมีโปรตีนเช่นกัน แต่น้อยกว่านมสาวเล็กน้อย”      

การต่อยอดและแผนการดำเนินการขั้นต่อไป

คุณกำราบชี้ต่อไปว่า ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ หากชาวบ้านใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นก็จะสามารถเพิ่มราคาทุเรียนต่อลูกได้มาก ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์ยุ่โส่บนาแสน1 ที่มีลักษณะพิเศษคือทานแล้วรู้สึกเหมือนทานไวอาก้า เดิมจากราคากิโลกรัมละ 50 บาท สามารถพุ่งสูงถึง 120 บาท

ดังนั้น หลังจากกิจกรรมจัดประกวดทุเรียนบ้าน แนวทางที่จะดำเนินการต่อจึงมีแล้วอย่างชัดเจน ทั้งนี้ รวมถึงทุเรียนที่ประกวดได้รางวัลอันดับ 1, 2 และ 3 ในงาน “ป่าเรียน ป่าเย็นฯ” ก็จะนำไปให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจเช่นกัน เพื่อจะได้ทราบต่อไปว่า พันธุ์ทุเรียนบ้านในพื้นที่เทพามีสารสำคัญอะไรบ้าง

“แต่ละพื้นที่ทำไมสารมากน้อยแตกต่างกัน อาจจะขึ้นอยู่กับฝน ดิน ระบบการปลูก ช่วงอายุ ระยะการสุก ซึ่งต้องมาวิเคราะห์กันต่อ

“ปัจจุบันภาคใต้มีการประกวดทุเรียนในหลายๆ พื้นที่ วันนี้การไปต่อหลังการประกวดทุเรียนคือการนำผลผลิตที่ได้รับรางวัลไปต่อยอดทั้งทางการตลาด มูลค่า คุณค่า เช่น การนำไปตรวจหาค่าโภชนาการ สารอาหารที่สำคัญ และนำกลับมาให้ชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ เพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนบ้านในพื้นที่ เป็นวิธีการหนึ่งในการอนุรักษ์ฐานพันธุกรรมพื้นบ้านของพื้นที่ เป็นขบวนการที่เห็นภาพตลอดห่วงโซ่” คุณกำราบอธิบายภาพรวมและความเชื่อมโยงของการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม คุณกำราบกล่าวถึงข้อจำกัดด้วยว่า “ข้อมูลวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ซ้ำ เพราะมีตัวแปรปัจจัย การตรวจเพียงครั้งเดียวแต่สามารถสรุปภาพรวมทั้งหมดคงไม่ใช่ เพราะหากช่วงเวลาเปลี่ยน การเก็บเกี่ยวเปลี่ยน ค่าที่พิสูจน์พบอาจจะเปลี่ยนไปได้

“การประกวดทุเรียนจัดขึ้นเพื่อให้ได้เห็นคุณค่าและมูลค่า เราจะต้องทำซ้ำซักระยะหนึ่ง” นั่นคือข้อสรุปที่คุณกำราบทิ้งท้ายไว้

อ้างอิงภาพจาก รายงานผลการดำเนินงานโครงการยกระดับทุเรียนพันธพื้นบ้าน ๗ สายพันธุ์ ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์. สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ๒๕๖๖

บรรยากาศในงาน ประกวดทุเรียนบ้าน ในงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น” วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ส่งประกวด ๒๕ ต้น จาก ๑๖ สวน ในพื้นที่ตำบลวังใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม

บทความแนะนำ