โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต Think Forward Center

         การนำเสนอสำหรับการพัฒนาเกษตรและสิ่งแวดล้อมในกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 แบ่งเป็น 4 ชุดข้อมูลและ 4 ข้อเสนอ ดังนี้
         ข้อมูลชุดที่ 1 ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทั้งภาพรวมของประเทศและส่วนครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งพบว่า การดำเนินนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ผ่านมา น่าจะถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินการได้อีก เนื่องจากกรอบเพดานที่เป็นวินัยทางการคลังของรัฐบาลจากการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. และการจัดตั้งงบประมาณของรัฐเพื่อคืนให้ ธกส.นั้นไม่สามารถจัดการได้อีก ถึงแม้จะมีการเพิ่มกรอบวินัยทางการคลังจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 แล้วก็ตาม อย่างในปี 2565 รัฐวางงบประมาณในการประกันพืชผลทางการเกษตรจำนวน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้เต็มเพดานตามวินัยทางการคลัง ดังนั้นแนวทางการอุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ได้ทำได้อีก จำเป็นต้องคิดกรอบการดำเนินการใหม่
         ในขณะที่ครัวเรือนเกษตรกรจากการแบ่งกลุ่มตามรายได้ พบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ยากจนสุดนั้น กำไรสุทธิ หรือรายได้สุทธิจากการประกอบการเกษตรจะน้อยกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้ภาคเกษตรเป็นรายเดือน ปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มว่าเกษตรกรร้อยละ 10 อาจต้องหลุดออกจากภาคเกษตรไป ทั้งนี้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้หากมีมูลค่าหลักทรัพย์สูงกว่ามูลค่าหนี้สินเท่านั้น 

         ข้อเสนอชุดที่ 1 ควรยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบเดิม ไม่ว่าการประกันรายได้ การจำนำข้าว หรืออื่นๆ แต่ให้นำวงเงินมาตั้งเป็นกองทุนสำหรับทำให้ภาคเกษตรมีความมั่นคง มีความยั่งยืน และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการทำระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น การเพิ่มเงินผู้สูงอายุ การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก เป็นต้น หรือการแบ่งงบประมาณที่วางไว้จำนวน 1.7 แสนล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อปรับหรือเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร เช่น กองทุนค่าพิพาทในที่ดิน การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรรายย่อย การพัฒนาการเกษตรเมือง และการพัฒนาระบบการตรวจรับคุณภาพสำหรับสินค้าเกษตร

         ข้อมูลชุดที่ 2 การจัดการน้ำในไร่นาของเกษตรกร และการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ เนื่องจากการน้ำมีความจำเป็นต่อการทำเกษตร และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในไร่นาที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่การทำเกษตรจำนวน 150 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 34 ล้านไร่ และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13 ไว้กำหนดแผนเตรียมทำพื้นที่ระบบชลประทานจำนวน 4 ล้านไร่ เมื่อรวมพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่แล้วเป็น 38 ล้านไร่ และอีก 23 ล้านไร่เตรียมทำไว้ในโอกาสต่อไป และอีก 1 ล้านไร่ เป็นระยะที่เตรียมไว้สำหรับการพัฒนาเป็นระบบน้ำบาดาล ซึ่งรวมแล้วเป็น  62 ล้านไร่ ดังนั้นยังมีพื้นที่อีก 88 ล้านไร่ หรือ 60% ไม่มีแผนการใดๆ ที่จะพัฒนาระบบชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเราเจอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

         ข้อเสนอชุดที่ 2 ควรมีการวางแผนดำเนินการในพื้นที่ 88 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่เตรียมดำเนินการชลประทาน 23 ล้านไร่ ได้วางแผนครอบคลุมไปถึงปี 2580 ดังนั้น ควรมีการวางแผนและกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การจัดการน้ำในไร่นาในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 10 ล้านไร่ การทำวนเกษตร 10 ล้านไร่ การทำโครงการทฤษฎีใหม่ หรือ 1 ตำบล 1 กลุ่ม เป็นต้น หรือในกรณีพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีนิเวศไม่เหมาะสมต่อการจัดการน้ำ เช่น ในสวนยางพารา อาจใช้วิธีการปลูกต้นไม้ที่แทรกผสมผสานลงไป หรือดำเนินการในลักษณะธนาคารต้นไม้ ที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินในอนาคตได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ดูดซับคาร์บอนที่เป็นสาเหตุการเกิดก๊าซเรือนกระจก หรือวางแผนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวการเกษตร หรือแก้ไขข้อพิพาทเรื่องป่าไม้ที่ดิน ซึ่งมีกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในข้อพิพาทดังกล่าวประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งต้องมีกองทุนในการแก้ไขปัญหาและระบุระยะเวลาในการดำเนินงานที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องเพิ่มบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและวางแผนที่สอดคล้องกับลักษณะลุ่มน้ำหรือนิเวศนั้นๆ เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้แปลงกลับมาสู่เป็นป่าที่สามารถตอบโจทย์เกษตรนิเวศได้

         ข้อมูลชุดที่ 3 เกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงทางอาหารที่มองเห็นหรือไม่ค่อยมองกัน จากสาเหตุราคาอาหาร เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าทั่วไป หรือเปรียบเทียบกับภาวะเงินเฟ้อทั่วไป ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาสินค้า และตัวที่แพงกว่าอาหารทั่วไป คือ ราคาผักและผลไม้ที่สูงมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปลายปีได้สูงถึงกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคผักและผลไม้ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นเงินสดและไม่ใช่อย่างกรณีการปลูกเองหรือแบ่งปัน โดยเฉพาะในครัวเรือนยากจนจะมีการบริโภคผักและผลไม้ค่อนข้างน้อย  ดังนั้น เกษตรนิเวศหรือเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยจึงเป็นคำตอบเพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร  

         กล่าวได้ว่า ความไม่มั่นคงทางอาหารของคนจนในประเด็นโภชนาการกลายเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าคนจนไม่ได้ปลูกผักและผลไม้ แต่จะเห็นว่าคนจนมีความพยายามปลูกผักผลไม้เองมากขึ้น โดยดูจากสัดส่วนที่ไม่เป็นเงินสดเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างกรณี โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีพื้นที่ชุมชนบูรพา 7 ได้ใช้พื้นที่รกร้างเนื้อที่ 1 งานมาปลูกผัก ที่ทำให้ผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคของคนในชุมชนจำนวน 20 คน เป็นต้น

         ข้อเสนอชุดที่ 3 ให้ความสำคัญของเกษตรในเมือง โดยรัฐต้องสนับสนุนการใช้พื้นที่รกร้าง มีการลดหย่อนหรืออุดหนุนผู้ที่มีการอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำเกษตรในเมือง หรือการพัฒนาตลาดสีเขียวทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน รวมถึงรัฐต้องกำหนดตัวชี้วัดที่เรียกว่า Affordable Healthy Diet ตามแนวทางของ FAO คือไม่ได้มองเพียงเส้นความยากจน มีอาหารเพียงพอตามแคลอรี่ที่กำหนด แต่ต้องคำนึงถึงเพียงพอตามลักษณะคุณค่าทางโภชนาการที่ควรจะได้รับ

         ข้อมูลชุดที่ 4 การรับรองระบบการตรวจรับรองคุณภาพ ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเกษตรนิเวศในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะถ้าเราดูการส่งออกของข้าวในตลาดหลัก อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอม ข้าวเหนียว ข้าวขาว ข้าวนึ่ง พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด และลดลงต่อเนื่อง ในปี 2564 ทำให้ราคาข้าวตกต่ำมาก แต่ถ้าไปดูมูลค่าตลาดข้าวเฉพาะซึ่งเป็นข้าวที่ลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หรือข้าวสี พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นและสูงกว่าข้าวในตลาดหลัก เพราะฉะนั้นมูลค่าข้าวในตลาดเฉพาะ จึงมีความเป็นไปได้ในการขยายตลาด

         ข้อเสนอชุดที่ 4 มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนิเวศที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งในตลาดเฉพาะโดยขยายการส่งออกข้าวในตลาดและในประเทศให้ได้ร้อยละ 10 พร้อมทั้งการส่งเสริมเกษตรนิเวศไปพร้อมกัน มีการพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะมากขึ้น มีการวิเคราะห์คุณค่าทางประสาทสัมผัสของข้าวแต่ละสายพันธุ์ มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบการตลาดและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ คุณค่าทางโภชนาการในแต่ละสายพันธุ์ สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในสินค้าเกษตรนิเวศหรือเกษตรสิ่งแวดล้อม อบรมและพัฒนาศักยภาพลูกหลานเกษตรกรในการพัฒนาและตรวจสอบมาตรฐานเกษตรนิเวศ เป็นต้น

ที่มารูปวิทยากร : https://adaymagazine.com/

บทความแนะนำ