โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

โดย คุณสุพจน์ หลี่จา สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย

“สองปีที่ผ่านมาพื้นที่เผชิญกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ข้าวที่ปลูกตามฤดูกาล ตามวิถีปฏิบัติเดิม เจอวิกฤตข้าวแล้งตาย พี่น้องบางชนเผ่าบางหมู่บ้านต้องปลูกข้าวถึง 2 รอบการผลิตจึงจะได้ข้าวเพื่อบริโภค ขณะเดียวกันปฏิทินการเกษตรก็หมุนไปตามความเชื่อและวิถีการปฏิบัติเดิมแต่กลับได้ผลผลิตลดลง”

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

สองปีที่ผ่านมาพื้นที่เผชิญกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ข้าวที่ปลูกตามฤดูกาล ตามวิถีปฏิบัติเดิม เจอวิกฤตข้าวแล้งตาย พี่น้องบางชนเผ่า บางหมู่บ้าน ต้องปลูกข้าวถึง 2 รอบการผลิตจึงจะได้ข้าวเพื่อบริโภค ขณะเดียวกันปฏิทินการเกษตรก็หมุนไปตามความเชื่อและวิถีการปฏิบัติเดิมแต่กลับได้ผลผลิตลดลง

อีกทั้ง ในปีที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการการควบคุม pm2.5 โดยการควบคุมการเผาช่วงกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ช่วงห้ามเผาเป็นช่วงที่ตามวิถีเดิมต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำข้าวไร่ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืช และอนุญาตให้เผาได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกและต้องปลูกข้าวแต่วัชพืชยังไม่ได้ถูกกำจัดทำให้ปลูกข้าวได้ล่าช้าส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง

ข้าวเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชนเผ่าเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณี บางครัวเรือน บางหมู่บ้าน การห้ามเผาทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทาง/วิถีเดิมได้ทำให้ต้องลดพื้นที่ปลูก ทำให้ความความหลากหลายของอาหารในพื้นที่ลดลง ลดทอนความเชื่อวัฒนธรรมของพี่น้องบนพื้นที่สูง บางพื้นที่พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านลดลงจากเดิม 50-100 สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลือเพียง 10-20 สายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายของชนิดอาหารในแปลงข้าว

ข้าวเปรียบเหมือนชีวิตของพี่น้องชนเผ่า ความผูกพันของคนกับข้าวมีความเกี่ยวข้องตามวิถีความเชื่อ เช่น ก่อนเก็บเกี่ยวจะมีการดูฤกษ์งามยามดีในการเกี่ยวข้าวว่าควรเกี่ยววันไหน จะเกี่ยวให้เสร็จหรือเกี่ยวเป็นพิธี ที่เหลือเอาไปเกี่ยวในวันที่ฤกษ์ดี หากตีข้าวเสร็จก็จะเก็บไว้ในยุ้งฉาง

หลังจากเก็บเกี่ยวจะเป็น “พิธีการกินข้าวใหม่” เป็นพิธีการที่สำคัญที่สุดเป็นการขอบคุณ เทพยดาบรรพบุรุษ ธรรมชาติ ผู้อาวุโส คุณพ่อคุณแม่ ที่เกี่ยวข้องกับการทำไร่และที่เกี่ยวข้องกับพิธี เป็นการแสดงความกตัญญูของคนว่าเราไม่สามารถแยกจากชีวิตของคนอื่นได้ ดังนั้น วิถีความเชื่อในการดำรงชีวิตของพี่น้องชนเผ่าจึงมาจากข้าวและพิธีกรรมเกือบตลอดทั้งปี

การปลูกข้าวบนพื้นที่สูง ปลูกข้าวไร่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปลูกข้าวนาขั้นบันไดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ นิยมบริโภคข้าวเจ้าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ การเลือกพันธุ์ข้าวจะเลือกจากพันธุ์ที่ตนเองชอบบริโภคเป็นหลัก ข้าวบางพันธุ์ให้ผลผลิตดีแต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะข้าวแข็งไม่อร่อย ข้าวบางพันธุ์อร่อยแม้ผลผลิตน้อยแต่ได้รับความนิยมในการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน

การคัดเมล็ดพันธุ์และการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ เป็นวิธีการหนึ่งในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวของชุมชน ทั้งคนในชุมชนและระหว่างชุมชน ชนเผ่าเดียวกัน หรือต่างชนเผ่า ยกตัวอย่างเช่น ชนเผ่าลีซูแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวกับชนเผ่าลาหู่ ชนเผ่าปกากะญอ ชนเผ่าอาข่า เป็นการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ชอบบริโภค เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นต้น

การคัดและเก็บเมล็ดพันธุ์ จะเก็บไว้ในยุ้งฉางที่อุณหภูมิเหมาะสม ก่อนนำไปปลูกจะนำมาคัดความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าวอีกครั้ง บางชนเผ่าจะนำเมล็ดข้าวไปแช่น้ำเพื่อคัดเมล็ดที่ลีบและลอยน้ำออก

          การปลูกข้าวไร่ จะหยอดเมล็ดข้าวลงในหลุมที่ต้องอาศัยความชำนาญหรือประสบการณ์ในการหยอด  1 หลุมต่อข้าว 5 เมล็ด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติที่ว่า “การหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงหลุมไม่ใช่หยอดเผื่อเจ้าของอย่างเดียวแต่หยอดเผื่อนก หนู แมลงต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย”

ข้อจำกัดในการปลูกข้าวไร่

1) การเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกินของพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีอย่างจำกัด ในขณะที่มีประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้น

2) การรุกเข้าพื้นที่จากพืชเศรษฐกิจที่กำลังแย่งพื้นที่ปลูกข้าวไร่ของพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เช่น ข้าวโพด สัปปะรด และมันสำปะหลัง เป็นต้น

3) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีผลต่อการปลูกข้าว เช่น ผลผลิตลดลง เจอภัยแล้ง

4) นโยบายภาครัฐ มาตรการควบคุม pm2.5 ควรมีการทบทวนมาตรการควบคุมการเผาสำหรับพื้นที่ภาคเหนือเป็นรายกรณีที่ควรแยกไฟป่ากับไฟเกษตร

บทความแนะนำ