โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Bl.
วงศ์ :  CLUSIACEAE (GUTTIFERAE)

ชื่อสามัญ :   –
ชื่ออื่น : ติ้วแดง ติ้วส้ม ติ้วใบเลื่อม

ถิ่นกำเนิด :

      ผักติ้วพบแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือ และอีสาน พบแพร่กระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และโปร่งหรือป่าเต็งรังจัดเป็นผักป่าพื้นบ้านที่นิยมเก็บยอดอ่อน และดอกอ่อนมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะแกง และต้มยำต่างๆ อาทิ แกงหน่อไม้ แกงหรือต้มยำปลา รวมถึงใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่นๆ ผักติ้ว เป็นชื่อเรียกทั่วไป นิยมใช้มากในภาคอีสาน และกลาง ส่วนคำว่า ติ้วขาว หรือ ติ้วขน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

      ลำต้น มีลักษณะตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ โคนลำต้นมีหนามขนาดใหญ่ ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่ต้นยังมีอายุน้อย หนามมีลักษณะแข็ง เป็นแท่ง ปลายหนามไม่แหลมคมมากนัก เพราะมีขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นแตกสะเก็ดเป็นแผ่น สีน้ำตาลอมดำ ส่วนกิ่งแขนงมีขนาดเล็ก กิ่งแขนงอ่อนหรือกิ่งบริเวณปลายยอดอ่อน มีสีม่วง ส่วนกิ่งแขนงแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา ทั้งนี้ หากใช้มีดสับเปลือกลำต้นจะมียางสีแดงไหลออกมา
      ใบ ผักติ้วเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงเยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง ใบมีมีรูปหอกหรือขอบขนาน มีก้านใบสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แผ่น และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีแดงอมม่วง และเป็นมัน ปลายใบมน จากนั้น เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเป็นสีเขียวเข้ม และเป็นมันเมื่อใบแก่ ใบแก่มีโคนใบสอบแคบ และปลายใบมีลักษณะแหลม แผ่นใบมีขนขนาดเล็กปกคลุม ด้านล่างใบมีต่อมน้ำมันขนาดเล็ก ขอบใบโค้งเข้าหากลางใบ และมีเส้นกลางใบมองเห็นชัดเจน ส่วนเส้นข้างใบมีประมาณ 6-8 คู่ ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร
      ดอก ผักติ้วออกดอกเป็นดอกเดี่ยว แต่ออกเป็นกระจุกในตาดอกเดียวกัน ดอกแทงออกจากตาดอกบริเวณเดียวกับตากิ่งแขนงย่อย กระจุกละประมาณ 1-6 ดอก ดอกมีก้านดอกสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวดอก ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีเขียวประแดงม่วงหุ้มเป็นทรงกลม จำนวน 5 กลีบ ดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก จำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกมีสีขาว มีขนปกคลุม แผ่นกลีบดอกเรียบ ปลายกลีบตัด และเป็นหยัก (เมื่อติดผล กลีบดอกจะร่วงหมด แต่จะเหลือกลีบเลี้ยงไว้หุ้มผล) ภายในดอกตรงกลางมีเกสรตัวผู้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเกสรจำนวนมาก ปลายก้านเกสรเป็นเรณูสีเหลือง ด้านล่างเป็นรังไข่จำนวน 3 อัน ทั้งนี้ ดอกผักติ้วจะเริ่มออกดอกประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะแทงออกก่อนการแตกใบใหม่ ทยอยออกดอกจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วงหลังจะมีใบแตกคลุมจนมองเห็นเป็นทรงพุ่มเขียวแล้ว
      ผล ผลผักติ้วจะติด 1 ผล ใน 1 ดอก ผลมีรูปกระสวย ท้ายผลแหลมเล็ก ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีม่วงอมแดง ผลแก่มีสีดำหรือน้ำตาลอมดำ ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มผล และเมื่อแห้งจะปริแตกออกเป็น 3 ร่อง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอมดำ เมล็ดมีลักษณะโค้ง และมีปีก เรียงอัดกันแน่นหลายเมล็ด 

การขยายพันธุ์ :

นิยมใช้เมล็ดเพาะกล้า


การใช้ประโยชน์

      – ด้านเนื้อไม้แปรรูป ใช้ทำกระดาน เสา ฟืน และถ่าน
      – ด้านการทำสีย้อม เปลือกใช้ทำสีย้อม แต่ไม่ระบุรายละเอียดใด ๆ
      – ด้านเป็นพืชอาหารส่วนที่ใช้เป็นอาหารคือ ใบอ่อนและยอดอ่อน กินกับอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ลาบ ซุปหน่อไม้ และน้ำพริก รวมถึงใช้ประกอบอาหารใส่แกงหรือประเภทต้มยำ ต้มส้ม ให้รสเปรี้ยว และดับกลิ่นคาวได้ดี อาทิ แกงเห็ด แกงหน่อไม้ ต้มยำปลาหรือต้มส้มปลา เป็นต้น เป็นที่นิยมมากในชาวอีสาน และชาวเหนือ ปัจจุบันนิยมรับทานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคกลาง
      – ด้านสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพร และมีสรรพคุณคือ  ต้นและราก ผสมลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่มแก้กระษัยเส้น เป็นยาระบาย  ใบอ่อนและยอดอ่อน รับประทานระบายท้องอ่อน ๆ
      – ด้านการเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของไม้ต้นนี้คือ เป็นไม้ต้นมีขนาดที่ปรับตัวตามพื้นที่ปลูกได้ให้สีสันเมื่อใบแก่ และอ่อนเรือนยอดรูปกรวยคว่ำสวยงาม ให้ร่มเงาได้ดีแม้ผลัดใบ ดอกสีแดงอมส้มหวานแต่ดอกเล็ก เป็นไม้ที่ใช้ใบอ่อนและยอดอ่อนเป็นพืชอาหารได้

ที่มา : http://www.qsbg.org/
http://bidiversity.forest.go.th/
http://www2.phrae.mju.ac.th/

บทความแนะนำ