โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

          การดำเนินงานของเครือข่ายเกษตรกรมยั่งยืน ชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเชื่อมร้อยงานที่ส่งเสริมและสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน ผ่านกระบวนการสร้างแนวคิดและรูปธรรมเกษตรกรรมยั่งยืน รวมไปถึงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในแปลงเกษตรและระดับชุมชน ผ่านรุ่นสู่รุ่นในชุมชนมาอย่างยาวนาน ด้วยเชื่อมั่นว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชน สามารถลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ อีกทั้งเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความผันผวนมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีระบบการผลิตที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ชุมชนแม่ทาได้มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างรุ่นสู่รุ่นในชุมชน ระหว่างเครือข่ายภาคีต่างๆ ทั้งในจังหวัด ภาคถึงในและต่างประเทศเพื่อสืบทอดระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านซึ่งชุมชนตระหนักและให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ โดยมีการศึกษาวิจัยสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในแปลงเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่าของชุมชน การฟื้นฟูการใช้ประโยชน์ในระดับแปลง รวมทั้งการเก็บคัดเลือกและรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืช

บทเรียนในการเคลื่อนงานพันธุกรรม

          ถึงแม้ว่าชุมชนแม่ทาได้มีการขับเคลื่อนงานพันธุกรรมมาเนิ่นนาน แต่พบว่าไม่มีการจัดเก็บหรือบันทึกข้อมูลถึงชนิดและลักษณะพันธุกรรมที่ละเอียดให้เป็นลายลักษณ์อักษร และขาดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรม เพื่อยกระดับและสร้างการเรียนรู้ความหลากหลายพันธุกรรมพืชและสัตว์ การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน การใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ทั้งการปลูกและการกิน และการสืบทอดให้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะพันธุกรรมสัตว์ที่ยังขับเคลื่อนงานได้น้อย ทั้งๆที่ในชุมชนแม่ทามีองค์ความรู้และมีผู้รู้ทั้งสัตว์ปีกและสัตว์สี่เท้า

แนวทางการดำเนินงานด้านพันธุกรรม

          สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านพันธุกรรมของชุมชนแม่ทาต่อไป คือ การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลและรูปธรรมของชุมชนสู่สาธารณะในหลากหลายช่องทางให้กว้างขวางมากขึ้น ยกระดับความรู้การจัดเก็บและผลิตเมล็ดพันธุ์แบบง่ายๆ ไว้ใช้เองในครัวเรือนสู่คนชุมชนให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการเพาะต้นกล้าผักที่มีคุณภาพเพื่อจำหน่าย เพิ่มจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพียงอย่างเดียว การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชให้ถูกต้องตามกฎหมายในนามสหกรณ์กรีนเนทเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญและถือเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนงานพันธุกรรมมาอย่างต่อเนื่อง คือการเชื่อมร้อยเครือข่ายและภาคีต่างๆ ซึ่งต้องมีความร่วมมือในการขับเนื่องอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอทางนโยบาย

          ทางเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลแม่ทา ได้รวมจัดทำข้อเสนอทางนโยบาย ดังนี้

  • รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านการเกษตรและการจัดการพันธุกรรมพืชและสัตว์ที่ตามมา หากประเทศไทยต้องเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP
  • รัฐบาลควรจัดตั้งกระทรวงเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรอย่างจริงจัง
  • หน่วยงานระดับท้องถิ่น ควรมีบทบาทในการหนุนเสริมงานพันธุกรรมและระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งการอบรมให้ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กเยาวชนที่จะมาสานต่อเกษตรกรรมยั่งยืน
  • มีการบรรจุความรู้ แนวคิด ความสำคัญของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ในระบบการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับปริญญาตรี โทและเอก
  • มีการสร้างงานในตำแหน่งนักวิชาการ นักส่งเสริม นักวิจัยด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ ทั้งในระดับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างชีวิตและมีพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน

บทความแนะนำ