หลากหลายชนิดพันธุ์สัตว์
ที่พบใน“สวนสมรม”
นอกจากจะมีพืชพันธุ์นานาชนิดถูกปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างผสมผสาน ทั้งไม้ใหญ่ยืนต้น ไม้เลื้อยพาดพัน ไม้ต้นเล็ก รวมถึงพืชพื้นล่าง หรือแม้แต่พืชหัวใต้ดิน
“สวนสมรม” ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิดพันธุ์ด้ว
ข้อเท็จจริงนี้ถูกบอกเล่าโดยคุณสมศักดิ์ บัวทิพย์ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผ่านวงเสวนาหัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเชิงวิชาการของงานที่ชื่อ ““ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
การสำรวจสัตว์ในพื้นที่ตำบลวังใหญ่
คุณสมศักดิ์เคยทำกิจกรรมสำรวจความหลากหลายของสัตว์ย่านตำบลวังใหญ่ ร่วมกับคุณกิตติภพ สุทธิสว่าง แห่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยมีการสำรวจทั้งปลา แมลง สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
“ครั้งแรกที่มาสำรวจคือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบ เขียด และสำรวจสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า จิ้งเหลน จากการสำรวจในพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ สวนยาง ป่ายาง สวนผลไม้ ป่าริมน้ำ ป่าเว้น สวนทุเรียน โดยเลือกพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อให้ได้เจอสัตว์มีชีวิตที่สนใจได้มากที่สุด…” คุณสมศักดิ์เริ่มต้นเล่า โดยแจกแจงถึงพื้นที่ที่เข้าสำรวจพันธุ์สัตว์ ซึ่งปรากฏคำคำหนึ่งที่แปลกหู นั่นคือ “ป่าเว้น”
นั่นทำให้ต้องไปถามนอกรอบเพื่อเข้าใจความหมาย ซึ่งได้รับคำอธิบายอย่างย่นย่อมาว่า “ป่าเว้นคือป่าตามแนวเขตแดน ชายขอบ ระหว่างเจ้าของสวนที่เว้นไว้ ต้นไม้จะขึ้นตามธรรมชาติ นกหรือสัตว์ป่าที่กินผลไม้แล้วเมล็ดตกบริเวณนั้น ก็จะปล่อยให้เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ และเว้นไว้ห้ามตัดไม้”
กลับมาที่การบอกเล่าในเวที คุณสมศักดิ์ขยับไปในเรื่องวิธีสำรวจว่า “สำรวจด้วยการเดินและพบเห็นด้วยตาเปล่า และนำมาจำแนกว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงการนับจำนวน เริ่มต้นด้วยสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ เขียด”
ผลสำรวจพบสัตว์หลากชนิด
คุณสมศักดิ์ระบุว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในประเทศไทยมี 145 ชนิด และผลจากการสำรวจพบว่า “ในพื้นที่แถวนี้ จากการสำรวจกับนักศึกษาพบ 28 ชนิดเป็นอย่างน้อย
“ที่บ้านควนหมาก เจอกงหรือหมาน้ำ ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ และไม่ได้เจอแค่ตัวเดียว แต่เจอบ่อยครั้งและหลายตัว ทำให้นึกถึงตอนเด็กๆ ที่ไปหาปลากับน้าตอนกลางคืน สี่สิบปีผ่านไปได้มาเจอที่บ้านควนหมาก ตำบลวังใหญ่ ว่ายังมีอยู่ ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมก็ไม่ได้ต่างจากบ้านผมมากนัก แต่ที่ต่างคือ บ้านผมไม่มีป่าเรียน สวนยางก็เป็นสวนยาง ไม่ใช่ป่ายาง สัตย์เลื้อยคลานก็พบ 28 ชนิดเป็นอย่างน้อย
พบสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด
ไม่เพียงบอกเล่าการค้นพบในภาพรวม คุณสมศักดิ์ยังไล่เรียงถึงสัตว์บางชนิดที่ได้พบ ด้วยท่าทีตื่นเต้นเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากสถานะที่สำคัญและจากความยากที่จะได้พบกับพวกมัน
“ประทับใจมากที่สุดคือพบกิ้งก่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พื้นที่นี้เจอเยอะมากๆ เปรียบเทียบกับพื้นที่วังไทรซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อุทยาน นานๆ เจอ และเจอตัวไม่ใหญ่เท่า แต่ที่ตำบลวังใหญ่ตัวโตและพบบ่อย
“และยังพบงูสิงตาโต ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและมีสถานะใกล้ถูกคุกคามในระดับโลก กลุ่มจิ้งจก 6 ชนิด ตุ๊กแกดูหนังหางแผ่น ตุ๊กแกหางเฟิน เปรียบเทียบกับพื้นที่วังไทรเจอยากมาก นี่พบใกล้บริเวณบ้านหรือชุมชนตรงสวนยาง ซึ่งเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก
“และเจอตุ๊ดตู่ซึ่งไม่เคยเจอจากการสำรวจในพื้นที่อื่น แต่ที่ตำบลวังใหญ่เจอในสวนผลไม้
“เจอเต่าเหลืองซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แม้จะเจอเพียงหนึ่งตัว ก็บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ระดับหนึ่ง”
“สวนสมรม” คือพื้นที่แห่งชีวิต
คุณสมศักดิ์ยังได้กล่าวถึงความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพในภาพใหญ่ว่า คือ การมีสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายอยู่อาศัยในระบบนิเวศต่างๆ โดยอาจจะหมายถึงความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ความหลากหลายในสายพันธุ์หรือพันธุกรรม ดังเช่นที่ทุเรียนบ้านที่มีชื่อเรียกมากมายหลายพันธุ์
ทั้งนี้ ในวงวิชาการเป็นที่รับทราบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ 56,000 กว่าชนิดในประเทศไทย ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์
คุณสมศักดิ์บอกอีกว่า สำหรับ “ป่าเรียน” แบบ “สวนสมรม” คนอาจพอรู้ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพของต้นไม้และพืช ว่าไม่ได้มีเฉพาะทุเรียน
“แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ที่อยู่ในป่าเรียน คิดว่าคนไม่ค่อยมีความรู้ว่าสัตว์ที่อยู่ในป่าเรียนมีอะไรบ้าง มีเท่าไร มีกี่ชนิด”
แต่หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมการสำรวจด้วยตนเอง คุณสมศักดิ์ก็ได้สรุปเอาไว้แล้วว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่วังไทร พื้นที่นี้โอเคมาก” ทั้งๆที่ “วังไทร” เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อุทยาน
แหล่งอ้างอิงและคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ที่สำรวจพบในพื้นที่ตำบลวังใหญ่
1) สัตว์ป่าคุ้มครอง “วงศ์เหี้ย” 4 ชนิดในไทย ได้แก่ ตะกวด ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง และเหี้ย
ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii)มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่ โดยเฉพาะตรงคอ ตอนเด็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำลากตัดบริเวณหางตา ตอนโตจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล พบได้ตามภาคใต้และภาคตะวันตกในไทย มีนิสัยรักสงบและเชื่องช้า
2) เต่าเหลือง มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
https://www.facebook.com/share/p/UGqDN16M8r7QYtVK/ เพจเฟสบุ๊ก ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์
เป็นเต่าที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบที่จะแช่น้ำ พบได้ในป่าแทบทุกสภาพ แม้กระทั่งในสวนยางพาราหรือสวนปาล์มน้ำมัน
3) กิ้งก่าดงใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gonocephalus grandis สถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง สามารถพบได้ตามริมลำธารของป่าดิบชื้น มีสีสันสวยงามและมีขนาดใหญ่
4) งูสิงตาโต เพจเฟสบุ๊ก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand งูสิงตาโตเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
5) จงโคร่ง หรือ หมาน้ำ พบทั่วไปในป่าดิบชื้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบได้เฉพาะในป่าดิบชื้น โดยจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำในป่า เช่น ลำธารน้ำตก หรือลำห้วย หากินในเวลากลางคืน อาหารหลัก ได้แก่ แมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีเสียงร้องคล้ายสุนัขเห่า จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า “หมาน้ำ”
6) ตุ๊กแกดูหนังหางแผ่น ตุ๊กแกหางเฟิน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
7) คลิปวิดีโอ คุณสมศักดิ์ บัวทิพย์ พูดเกี่ยวกับงาน ป่าเรียน ป่าเย็น และความหลากหลายทางชีวภาพ
ช่องเฉพาะของ มอ.